รถเข็น (0 ชิ้น)
 
องค์กรปรนัย บทความจากคอลัมน์ คิดสลับขั้ว โดย โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

เขียนโดย gam pata
พฤหัส 29 กรกฎาคม 2553 @ 09:39


จะว่าไปแล้ว คนในสังคมเมืองโดยเฉพาะพวกมนุษย์เงินเดือนอย่างพวกผมใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับที่ทำงานมากกว่าอย่างอื่น

เรียก ว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาที่เราตื่นนอนอยู่นั้นถูกใช้ไปกับชีวิตการทำงานใน องค์กร ที่ทำงานหรือองค์กรจึงกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตทุกเมื่อเชื่อวันของเรา

ใครที่โชคดีหรือมีบุญได้ทำงานในองค์กรที่ดี ชีวิตก็ดีไปด้วย แต่คนที่ผมรู้จักคุ้นเคยนั้นไม่โชคดีและไม่มีบุญอย่างนั้น ส่วนใหญ่มักต้องกัดฟัน ฝืนใจทนกับชีวิตการงานในองค์กรสมัยใหม่ที่ระบบงานได้ทำให้คนทำงานกลายเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ ยิ่งทำงาน ยิ่งไม่มีความสุขมากขึ้นทุกวัน

ภาวะเช่นนี้ ในทางทฤษฎีสังคมเรียกว่า “การแปลกแยกจากงาน” คือเป็นภาวะที่การทำงานไม่ตอบสนองต่อคุณค่า ศักดิ์ศรีและศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เพราะงานที่ทำถูกควบคุมกำกับจากอำนาจอื่นโดยที่คนทำงานเองไม่สามารถชื่นชมถึงคุณค่าของตนเองในฐานะผู้สร้างสรรค์ได้

เรียกว่า สักแต่ทำงานตาม Job description ที่ตนเองไม่มีส่วนร่วมกำหนด

คนทำงานในองค์กรแบบนี้จึงกลายเป็นคนที่ใช้ชีวิตสิ้นเปลืองไปกับบทละครที่ตัวเองไม่ได้เขียน

งานที่ทำก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการได้มาซึ่งรายได้ เป็นเรื่องที่ต้องกัดฟันทำไปวันๆ อย่างไม่มีความสุข

ความสุขหาไม่ได้จากการทำงาน ถ้าจะหาความสุขก็ต้องไปซื้อหาหรือแสวงหาจากที่อื่นในวันหยุด เช่นไป “ทอราพี” ในรูปแบบต่างๆ เช่น สปาทอราพี (Spa Therapy) อโรมาทอราพี (Aroma Therapy) หรือไม่ก็ช็อปปิ้งทอราพี (Shopping Therapy) พอได้บำบัดอาการทางจิตที่เกิดจากความแปลกแยกให้ก้มหน้าทำงานต่อไปได้ในแต่ละอาทิตย์

ระบบงานสมัยใหม่นั้นเป็นผลผลิตของวิธีคิดแบบเครื่องจักรกล การบริหารจัดการองค์กรในระบบงานแบบนี้ไม่ต่างไปจากการควบคุมเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่คนไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าปัจจัยการผลิต สมกับคำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ที่ถือว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรที่ถูกใช้ไปเพื่อเป้าหมายการพัฒนาบางอย่าง

การจัดการแบบจักรกลนี้เน้นการสั่งการและควบคุมให้เป็นไปตามที่สั่ง ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้าด้วยคู่มือการทำงานที่ระบุเทคนิควิธีการไว้อย่างละเอียด การติดตามประเมินในทุกขั้นตอน และการกำหนดตัวชี้วัดที่ครอบคลุมทุกเรื่องอย่างไม่ให้มีช่องโหว่ช่องว่างให้เล็ดลอดได้

ถ้าใครเคยเข้าห้องน้ำตามสำนักงานใหญ่ๆ จะเห็นตัวอย่างการสั่งการและการควบคุมกำกับ คือสมุดเซ็นที่ฝ่ายบริหารนำมาติดไว้ในห้องน้ำ ในสมุดนอกจากจะมีชื่อผู้รับผิดชอบและกำหนดตารางเวลาการทำความสะอาดแล้ว ยังมีช่องเซ็นชื่อสำหรับ “ผู้ตรวจการณ์” ที่จะต้องเซ็นกำกับตามเวลาที่ถูกกำหนดให้มาเดินตรวจอีกด้วย

แต่แค่สมุดเซ็นควบคุมกำกับนี้ยังเป็นเรื่องธรรมดาครับ บางแห่งใช้การติดป้ายเพื่อการควบคุมกำกับที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่านี้ ผมเคยเข้าห้องน้ำที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีการติดป้ายกำกับเกือบทุกเรื่องครับ บนเคาน์เตอร์อ่างล้างมือ มีป้ายวงกลมสีน้ำเงินพร้อมกากบาท มีอักษรเขียนไว้ว่า “ที่วางสบู่” ถัดไปเล็กน้อยมีอีกป้ายเขียนว่า “ที่วางแจกัน” “ที่วางกระดาษทิชชู” บนฝามีป้ายว่า “ที่แขวนผ้าเช็ดมือ” ป้ายพวกนี้มีไว้ควบคุมกำกับให้คนดูแลความเรียบร้อยของห้องน้ำปฏิบัติตามอย่างที่ไม่สามารถเฉไฉหรือเบี่ยงเบนเป็นอย่างอื่น 

แต่ก็ยังมีป้ายอื่นๆ ที่ผมไม่รู้ว่าติดไว้ทำอะไร เช่น ป้ายที่เขียนว่า “ปลั๊กไฟ” ติดไว้เหนือ “ปลั๊กไฟ” ป้ายเขียนว่า “สวิทช์ไฟ” ติดไว้เหนือ “สวิทช์ไฟ” หรือป้าย “ถังขยะ” ติดไว้ที่ฝาข้าง “ถังขยะ” เป็นต้น

การติดป้ายว่าให้วางสบู่ตรงนี้ วางทิชชูตรงนั้น วางแจกันตรงโน้น เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการควบคุมกำกับที่ทำให้ฝ่ายบริหารมั่นใจว่าทุกอย่างจะไม่เดินออกนอกลู่นอกทาง โดยการติดป้ายกำกับให้เดินเฉพาะตามช่องที่กำหนดไว้เท่านั้น
เป็นระบบงานที่ห้ามพนักงานมีจินตนาการใหม่ๆ ใดๆ ทั้งสิ้น เช่นวันนี้คิดอยากเอาดอกไม้ช่อใหญ่มาใส่แจกันในห้องน้ำให้บรรยากาศสดชื่นก็ทำไม่ได้ เพราะจะต้องเลื่อนแจกันออกมาจากตำแหน่งชิดฝาที่มีกากบาทกำกับไว้ (จะทำก็ได้ แต่อาจต้องทำเรื่องขออนุมัติหัวหน้าตามขั้นตอนเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งกากบาทบนเคาน์เตอร์ก่อน)

เป็นระบบงานที่ห้ามคิดนอกกรอบ ให้ทำแค่ที่กำหนดให้เป็น ให้เห็นแค่ที่กำหนดให้มอง ไม่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใดๆ

เทคโนโลยีสำหรับการควบคุมกำกับมีมากมายกว่าการติดป้ายครับ เทคโนโลยีในการควบคุมกำกับที่สำคัญอีกอย่างก็คือการจัดทำตัวชี้วัดที่เรียกว่า KPI (Key Performance Indicators) ที่แตกลูกแตกหลานออกมาเป็นลำดับไล่เรื่อยมาตั้งแต่วิสัยทัศน์องค์กรจนถึงตัวชี้วัดส่วนบุคคล

ว่ากันเรื่องวิสัยทัศน์ก่อน วิสัยทัศน์ที่ทำๆ กันตามองค์กรต่างๆ มีอยู่มากมายหลายแบบ แต่พอจะจัดประเภทได้เป็นกลุ่มๆ คือ วิสัยทัศน์แบบนายบ้าว่าตามนาย (นายไปเข้าคอร์สผู้บริหาร เกิดปิ๊งกับแนวคิดอะไรก็เอามาแต่งเป็นวิสัยทัศน์) วิสัยทัศน์แบบขอฮิตด้วยคน (ทุกองค์กรก็เลยอยากเป็นเลิศและอยากเป็นระดับโลกกันหมด) วิสัยทัศน์แบบคำขวัญวันเด็ก (เน้นสัมผัสนอก-สัมผัสในให้คำคล้องจองเป็นหลัก) วิสัยทัศน์แบบศัพทานุกรม (เน้นการรวบรวมเอาคำใหญ่ๆ ทั้งหลายที่ฟังดูดีมาแต่งเป็นวิสัยทัศน์)

กระบวนการได้มาซึ่งวิสัยทัศน์นั้นส่วนใหญ่ก็พิกลพิการพอๆ กับวิสัยทัศน์ที่ได้ ที่นิยมกันมากก็คือกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์เฉลี่ยแบบสมานฉันท์ วิธีการง่ายๆ ก็คือจัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง (ถ้าจะให้ดี ทำเป็นโครงการหรือกิจกรรม OD หรือ Organizational Development และเชิญวิทยากรกระบวนการมาทำอะไรตลกๆ หรือให้วาดรูปอะไรก็ได้แล้วเอามาชมกันสักช่วงหนึ่งก่อน จากนั้นก็แจกกระดาษแผ่นเล็กๆ ให้ทุกคนที่ร่วมทำวิสัยทัศน์เขียนคำที่ตนเองคิดว่าสำคัญที่สุดมาคนละคำ สองคำ นำเอาบัตรคำเหล่านั้นมาเรียงสลับกันไปมาแล้วพยายามต่อคำต่างๆ ที่ได้มาให้เป็นวลีด้วยการใช้คำเชื่อม และ-หรือ-ที่-ซึ่ง-อัน-ทั้ง-เพื่อ-โดย ให้พอสื่อความหมายได้ ก็จะได้วิสัยทัศน์เฉลี่ยแบบสมานฉันท์ที่ทุกคนพอใจ

วิสัยทัศน์ประเภทนี้เป็นวิสัยทัศน์ปรนัยที่มีไว้ท่องจำ ไม่ต่างอะไรกับการเรียน การสอนและการสอบแบบปรนัย ใครจะเลื่อนขั้น จะประเมินความดีความชอบ หรือองค์กรจะผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน พนักงานทุกคนต้องท่องวิสัยทัศน์องค์กรให้ได้

เป็นวิสัยทัศน์แบบนกแก้วนกขุนทองที่ข้อความที่ท่องหรือติดไว้ทั่วไปตามฝาผนังอาคารนั้นก็ไม่ได้มีความหมายอะไรต่อพนักงาน และไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจอะไรให้กับผู้คนในองค์กรเลย

สู้ป้าย “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” ที่ติดอยู่ตามห้องแถวหรือบ้านเช่าก็ยังไม่ได้

พอเอาวิสัยทัศน์ที่ไร้ความหมายมากำหนดเป็นพันธกิจบ้าง ยุทธศาสตร์บ้าง แผนปฏิบัติการและตัวชี้วัดในการประเมินบ้าง สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นแค่แบบฟอร์มที่ต้องกรอกเพื่อให้มีส่งตามข้อกำหนดของฝ่ายบริหาร (หรือ กพร. สำหรับหน่วยราชการและองค์กรมหาชน) เท่านั้น

คนทำงานในองค์กรเหล่านี้ใช้เวลาของชีวิตจำนวนมากสิ้นเปลืองไปกับการกรอกแบบฟอร์มที่ตนเองก็ไม่รู้ว่ามีความหมายอะไร หรือที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือกรอกข้อมูลที่ตนเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่ความจริง หาสารประโยชน์อะไรแทบไม่ได้ เพราะเป็นแค่สิ่งที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นให้มีตัวเลขพอได้กรอกรายงาน  ส่วนมากก็มักจะกรอกไป ก่นด่าคนออกแบบฟอร์มไปด้วยความเกลียดและโกรธแค้น

แต่เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานก็ต้องกรอก

ทำไป ทำมา คนที่ได้ดีในระบบงานไม่ใช่คนที่เก่งเรื่องงาน แต่กลายเป็นคนที่เก่งเรื่องการกรอกตัวชี้วัด

องค์กรที่ทำงานแบบเครื่องจักรกล เน้นการสั่งการและควบคุมกำกับผ่านตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างตายตัว บังคับบัญชาให้คนทำงานทำโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องรู้สึก และไม่ต้องสร้างสรรค์อะไร หลับหูหลับตาทำไปตามระเบียบ กฎเกณฑ์และขั้นตอนที่ถูกกำหนดไว้ ผมอยากจะเรียกว่าเป็นองค์กรแบบปรนัย

องค์กรปรนัยมีวิสัยทัศน์ที่พนักงานทุกคนต้องจดจำให้ขึ้นใจ คือ
เดินตามช่อง-มองแค่ที่เห็น-เน้นตัวชี้วัด-วิสัยทัศน์มีไว้ท่องจำ-งานที่ทำไม่มีความหมาย



 



หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน