รถเข็น (0 ชิ้น)
 
ความตาย: เทคโนโลยีทางการแพทย์หรือวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด

เขียนโดย
จันทร์ 27 กันยายม 2553 @ 00:18


  มาร์กาเร็ต ล็อค (Margaret Lock) นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมผู้ซึ่งสนใจเรื่องร่างกายที่เกี่ยวกับสุขภาพและการเจ็บป่วย งานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นการวิจัยเปรียบเทียบระหว่างอเมริกาเหนือกับญี่ปุ่นความสนใจในปัจจุบันของเธอเกี่ยวข้องกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เทคโนโลยี สังคม การเมือง จริยธรรม และ subjectivity

  ปี 2002 มาร์กาเร็ต ล็อค ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Twice Dead: Organ Transplants and the Reinvention of Death

 

      สำหรับบทความเรื่อง On dying twice: culture, technology and the determination of death เป็นบทความหนึ่งในหนังสือเรื่อง Living and Working with the New Medical Technologies Intersection of Inquiry (2000) มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองตาย (brain death) กับการบริจาคและเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ บทความแบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ ทั้งหมด 9 หัวข้อ แต่ละหัวข้อผู้เขียนได้ชี้ให้ผู้อ่านเห็นแง่มุมต่างๆ ทั้งทางด้านการแพทย์ วัฒนธรรม จริยธรรม กฎหมาย ตลอดจนความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจหยุดรักษาผู้ป่วยสมองตายและการบริจาคอวัยวะให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ โดยที่ Lock ใช้การศึกษาเปรียบเทียบสังคมอเมริกาเหนือกับญี่ปุ่น ด้วยการสัมภาษณ์ศัลยแพทย์ด้านสมอง วิสัญญีแพทย์ และพยาบาล 
     ผู้เขียนอธิบายถึงผู้ป่วยสมองตายว่าเป็นผู้ป่วยที่ไม่ฟื้นและไม่ตาย ผู้ป่วยเหล่านี้เป็นผู้ป่วยที่ดำรงอยู่ภาวะระหว่างความเป็นและความตาย  (exist betwixt and between)  พวกเขาอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ (ventilator) แต่ไม่มีสติรับรู้อีกต่อไป ผู้ป่วยสมองตายเหล่านี้เป็นผู้ป่วยที่สามารถบริจาคอวัยวะให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีที่ช่วยรักษาชีวิตให้ดำรงอยู่เพื่อให้อวัยวะอื่นๆ อยู่ต่อไปจนกระทั่งถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ 
     อย่างไรก็ตามการตัดสินใจหยุดการรักษาผู้ป่วยสมองตายไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเกณฑ์ทางการแพทย์แต่ยังเกี่ยวข้องกับจริยธรรม และวัฒนธรรมของผู้ป่วยด้วย จริยธรรมที่กล่าวถึงไม่ได้มีความหมายจริยธรรมที่คาบเกี่ยวระหว่างจริยธรรมแบบเหตุผล ทางโลกและวิทยาศาสตร์ กับจริยธรรมในจักรวาลทัศน์ของผู้ป่วยและญาติ
      บทความนี้ได้นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยเริ่มจากเรื่องพรมแดนจากวัฒนธรรมสู่ธรรมชาติ หรือการมีชีวิตสู่ความตาย ความหมายของวัฒนธรรมกับธรรมชาติอาจต้องนิยามกันใหม่เมื่อมีการประดิษฐ์สร้างเทคโนโลยีที่เข้าไปสอดแทรกในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น Lock อธิบายว่าผู้คนยุโรปอเมริกาเหนือสามารถยอมรับการตายรูปแบบใหม่ของผู้ป่วยสมองตายได้มากกว่าคนญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามพรมแดนระหว่างวัฒนธรรมกับธรรมชาติเลื่อนไหลไปมาตามการให้ความหมายและขอบเขตของการตาย
     โดยเธอได้ให้ภาพความเป็นมาโดยสังเขปของการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะทั้งในด้านเทคโนโลยีและกฎหมาย โดยเฉพาะความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ในการหาข้อสรุปเกณฑ์สำหรับการตายซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจเรื่องการตายและความคิดต่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในอเมริกาเหนือกับญี่ปุ่นแตกต่างกัน  
     เมื่อร่างกายมีชีวิตอยู่นานกว่าเจ้าของร่าง จึงเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจให้หยุดการรักษาเรือนร่างที่ยังคงมีสภาวะที่ดูเหมือนปกติเพียงขาดการรับรู้กับสิ่งรอบตัว  แพทย์ในอเมริกาเหนือกับญี่ปุ่นยืนยันกับญาติของผู้ป่วยสมองตายแตกต่างกัน  ขณะที่แพทย์ในอเมริกาจะบอกกับญาติว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว ให้เวลากับญาติสักระยะหนึ่งแล้วจึงถามถึงการบริจาคอวัยวะ แพทย์ในญี่ปุ่นจะบอกญาติผู้ป่วยว่าสมองของผู้ป่วยเกือบจะตายแล้ว ดูเหมือนจะหมดหวังในการรักษา และจะไม่มีการเสนอให้บริจาคอวัยวะจนกว่าญาติผู้ป่วยจะเสนอเอง 
     ในอเมริกาเหนือการบริจาคอวัยวะดูเหมือนเรื่องที่ควรทำเพราะเป็น “ของขวัญของชีวิต” ขณะที่ญี่ปุ่นการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ผู้เขียนสรุปว่าความแตกต่างนี้น่าจะเกิดจากหลายปัจจัยอเมริกาเหนือการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเป็นเรื่องทางการแพทย์ที่ผู้คนให้ความสำคัญอยู่แล้ว พร้อมทั้งยังมีกฎหมายและสำนักคาทอลิกให้การสนับสนุนการกระทำดังกล่าวอยู่แล้ว ขณะที่ในญี่ปุ่นประสบการณ์เกี่ยวกับการคอรัปชั่นในการแพทย์ของญี่ปุ่นยังคงฝังใจคนญี่ปุ่นมาตลอด อีกทั้งทนายความยังคงไม่ยอมรับกับเรื่องสมองตาย ด้านศาสนายังคงไม่มีใครออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของญาติและความคิดเรื่องปัจเจกบุคคลที่แตกต่างกันทำให้การให้ความหมายและการตัดสินใจเกี่ยวกับความตายของผู้ป่วยสมองตายกับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในสองสังคมนี้แตกต่างกัน
     
        ข้อถกเถียงที่สำคัญของบทความนี้คือ แม้ว่าภาวะสมองตายจะเป็นปรากฎการณ์ทางชีวภาพแต่ดูเหมือนว่าการตัดสินใจหยุดการรักษาและการบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม 
     
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง 
สรุปจากบทความ Lock, M. (2000). On dying twice: culture, technology and the determination of dealth. Living and working with the new medical technologies intersections of inquiry. Cambridge: Cambridge University Press.   
 
     
 
 
 

 



ปรับของสมนาคุณการสมัคร/ต่ออายุสมาชิก
รางวัลการประกวดสร้างหนังสั้น สร้างสรรค์สื่อ
ความตาย: เทคโนโลยีทางการแพทย์หรือวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนด
ความรู้ชายขอบ: อำนาจและประสบการณ์
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน