รถเข็น (0 ชิ้น)
 
อารมณ์ วิทยาศาสตร์กับการแพทย์: มนุษยศาสตร์กับโฉมหน้าความเป็นมนุษย์ของการแพทย์

เขียนโดย gam pata
อาทิตย์ 05 สิงหาคม 2555 @ 01:24


บทความประกอบการอภิปราย เรื่อง "ห้ามมีอารมณ์กับอารมณ์ต้องห้าม" ในการประชุมมนุษยศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2551
ณ โรงละคร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 โดย โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

*************************************************
ผมมีโอกาสพูดคุยกับคุณพฤ โอ่โดเชาและคุณพ่อ คือ พะตี จอนิ ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา
 
หัวข้อในการสนทนาในวันนั้นเป็นเรื่องวัฒนธรรมนิเวศแนวลึก: โลกทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ (Deep Ecological Culture: A Sacred View) ซึ่งเป็นการสนทนาสะท้อนเรื่องราวและภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติผ่านโลกทัศน์และการปฏิบัติของชาวปกาเกอะญอที่เรียนรู้และแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ
 
หรือในภาษาของพะตี จอนิ คือ การหาทางคืนดีกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับเทคโนโลยี (ซึ่งประการหลังนี้พะตี จอนิบอกว่ายังไม่รู้จะทำอย่างไร)
 
ในตอนหนึ่งของการสนทนา คุณพฤได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ค้นพบความหมายทางวัฒนธรรมของโลกและธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ในเข้าของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวปกาเกอะญอ เช่น กระด้ง ซึ่งด้านบนที่สานเป็นลายสองนั้น พฤบอกว่า เป็นลายเส้นคู่ที่สะท้อนความเป็นอยู่คู่กันของสรรพสิ่ง เช่น ชายกับหญิงที่ต้องอยู่ร่วมกัน กระด้งนั้นชาวปกาเกอะญอเรียกว่า “ก่อนแหล่” มีความหมายว่า “โลกกว้าง”
 
เพราะกระด้งเป็นเครื่องมือที่ใช้ฝัดข้าว การฝัดกระด้งทำให้เราสามารถแยกเมล็ดข้าวลีบออกจากข้าวเปลือกได้ สำหรับข้าวเปลือกที่ตำแล้วกระด้งใช้ฝัดแยกแกลบออกจากเมล็ดข้าวได้ ฝัดข้าวเปลือกออกจากข้าวสารได้ และยังฝัดแยกข้าวหักออกจากข้าวเมล็ดเต็มได้อีกด้วย
 
และที่กระด้งมีความหมายว่า โลกกว้างก็เพราะการที่เราสามารถฝัดแยกข้าวจนได้ข้าวสารมาหุงกินนี้เองที่ทำให้เราสามารถสัมพันธ์อย่างเกื้อกูลกับคนอื่นๆ ได้ เรียกว่า สรรพสิ่งที่มีอยู่คู่กันนั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลผู้คน ทำให้โลกของเรากว้างขวางขึ้นกว่าการอยู่ตัวลำพังตัวคนเดียว
 
ในการมีชีวิตอยู่ในโลกธรรมชาตินั้น ชาวปกาเกอะญอสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆ และความหมายที่ว่านี้เองก็เป็นตัวกำหนดโลกของความสัมพันธ์ต่างๆ ด้วยหรือจะเรียกว่า ความหมายทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวกลาง (Mediator) ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมีส่วนในการกำหนดความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในชุมชนปกาเกอะญอ รวมทั้งเป็นตัวเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างกันของสิ่งต่างๆ ด้วย
 
และความหมายหลายอย่างในจักรวาลทัศน์ของชาวปกาเกอะญอนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ เช่น เด็กกำพร้า แม่หม้าย หรือหญิงโสดที่ไม่ได้แต่งงานนั้นในสังคมโดยทั่วไปมักถือเป็นผู้ที่สังคมรังเกียจหรือระแวงสงสัย หรือแม้แต่ข้าวที่เรากินก็มีความหมายในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องให้การเคารพนอบน้อมด้วย 
 
พฤเล่าถึงความเคารพต่อชีวิตของพืชและสรรพสัตว์ว่า เวลาที่เรากินข้าวก็ต้องละอายที่เรากินเขาเป็นอาหาร เพราะข้าวก็มีชีวิต “กินข้าวต้องให้ข้าวคุ้มใจ” สัตว์ต่างๆ ก็เช่นกัน เวลาที่เราไปล่าสัตว์ เช่นไปยิงนกยิงหนูมาเป็นอาหาร บางทีหนูที่เราฆ่ามาทำอาหาร พอผ่าท้องออกมาก็เห็นว่ามันมีลูกน้อยๆ อยู่ในท้อง  
 
แรกๆ อาจไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ถ้าเกิดขึ้น 3 ครั้ง 5  ครั้ง เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเรากำลังเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นจนเกินไปหรือเปล่า  ลึกๆ เราฆ่าสัตว์อื่นมาเป็นอาหารจึงมีส่วนที่เราต้องรู้สึกผิดบ้าง
 
บางครั้งในครอบครัวกำลังฆ่าหมูเพื่อมาทำอาหารในงานเลี้ยง ลูกหลานเล็กๆ มาเห็นเข้าก็จะร้องให้และตะโกนถามพ่อแม่ว่าทำอย่างงั้นได้อย่างไร ไปฆ่ามันทำไม อย่าฆ่ามันเลย เพราะเด็กๆ ก็เคยเล่นเคยเลี้ยงหมูนั้นมาก่อน พ่อแม่ก็จะรีบกันเด็กออก บอกว่าอย่าเข้าใกล้ และเบี่ยงเบนความสนใจหรือตัดบทด้วยการถามว่าใครจะกินอาหารอะไรใหม อะไรทำนองนี้ 
 
การกันเด็กๆ ออกจากกิจกรรมการฆ่าสัตว์ การเบี่ยงเบนความสนใจ หรือการตัดบทที่ว่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าอารมณ์ผูกพันและความรู้สึกผิดนั้นถูกจัดการให้มีที่ทางที่เหมาะสมกับกาละและเทศะ
 
ในบางกาลเทศะ อารมณ์อาจไม่ได้รับการอนุญาตให้แสดงออก หรือจะพูดว่า อารมณ์บางอย่างในบางบริบทจะกลายเป็นอารมณ์ต้องห้ามไปก็ได้ โดยในการห้ามการแสดงออกทางอารมณ์อาจเกิดขึ้นจากการให้ความหมายของวัตถุแห่งการรับรู้ เช่น ในกรณีที่พฤเล่าถึงความเป็นผู้หญิงและอารมณ์ทางเพศในหมู่บ้านว่า แม่ที่เปิดเต้านมให้ลูกดูดไม่กระตุ้นความต้องการทางเพศเพราะผู้หญิงจะเปลี่ยนสถานภาพจากหญิงสาวไปเป็น “แม่บ้าน” ตั้งแต่เมื่อมีครอบครัวหญิงสาวก็เปลี่ยนเสื้อผ้าที่สวมใส่ ซึ่งพฤบอกว่าในหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอนั้น เมื่อหญิงสาวเป็นโสดจะใส่ชุดขาวและต้องเปลี่ยนเป็นเสื้อดำปักลูกเดือยเมื่อมีครอบครัว 
 
ที่ผมเล่าเรื่องนี้เสียยืดยาวก็เพื่อแสดงว่าอารมณ์ในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สังคมมีกลไกและกระบวนการจัดการกับอารมณ์ด้วยการสร้างความหมายหรือสร้างขอบเขตของพื้นที่และกาลเทศะของการแสดงออกทางอารมณ์
 
แต่สิ่งที่ผมมีอารมณ์อยากจะกล่าวถึงในบทความนี้ ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกในวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือชุมชน แต่เป็นเรื่องอารมณ์ในโลกของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในแวดวงทางการแพทย์ โดยในบทความนี้ผมจะพูดถึงเรื่องของอารมณ์ในระบบวิธีคิดของวิทยาศาสตร์ (Emotion in science) และเรื่องวิทยาศาสตร์ของอารมณ์ (Science of emotion) และสุดท้ายจะพูดถึงเรื่องที่ทางที่เหมาะสมของอารมณ์ในกระบวนการสร้างระบบการแพทย์ที่มีความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์ 
 
อารมณ์ในระบบวิธีคิดของวิทยาศาสตร์ Emotion in Science
 
วิทยาการสมัยใหม่ที่มีรากฐานจากกระบวนทัศน์แบบเดส์การ์ต-นิวตันซึ่งเน้นการคิดด้วยเหตุผลและการตรวจวัดได้อย่างเป็นภาวะวิสัยไม่เพียงแต่ทำให้อารมณ์ความรู้สึกอยู่นอกขอบวงของการศึกษาทางวิทยาสตร์ แต่ยังทำให้อารมณ์กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเข้าถึงความจริง
 
ในญาณวิทยาของเดส์การ์ตที่สร้างปรัชญาสมัยใหม่ขึ้นด้วยการถอดรื้อสิ่งที่เราไม่สามารถเชื่อถือได้ว่าจริงนั้น อารมณ์ความรู้สึกกลายเป็นสิ่งแรกที่วิทยาการสมัยใหม่ปฏิเสธ ยิ่งเมื่อวิทยาศาสตร์ถูกวางรากฐานอย่างเข้มแข็งภายใต้ปรัชญาแบบ Logical positivism ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา อารมณ์ก็ไม่มีสถานะการดำรงอยู่ทางภววิทยาอีกต่อไป
 
ปรากฏการณ์ที่ชีวิตถูกอธิบายโดยไม่มีอารมณ์เป็นส่วนประกอบ หรือจะว่าให้ถูกต้องกว่าก็คือ ปรากฏการณ์ที่อารมณ์ไม่มีที่ทางในระบบวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เห็นได้อย่างเด่นชัดในพัฒนาการของวิชาจิตวิทยาตามแนวคิดแบบ Radical behaviorism ซึ่งมีผู้นำสำคัญคือ B F Skinner และต่อมากลายเป็นแนวทางสำคัญของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการอธิบายพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต
 
ผมจำได้ดีเมื่อครั้งศึกษาวิทยาศาสตร์อยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวิชาชีววิทยามีการสอนเรื่องพฤติกรรมศาสตร์โดยให้เราอธิบายพฤติกรรมการแสดงออกของสัตว์ต่างๆ เช่น พฤติกรรมของฝูงมดที่เดินต่อกันเป็นแถว พฤติกรรมของนกยูงรำแพน หรือพฤติกรรมของผีเสื้อที่ตอมดอกไม้
 
คำอธิบายที่ถูกต้องในชั้นเรียนนี้จะต้องไม่ใช่การอ้างสิ่งที่เราตรวจวัดไม่ได้ เช่น ความชอบ ความอยาก หรือภาวะทางจิต พฤติกรรมถูกอธิบายโดยสารเคมี เช่น ฟีโรโมน หรือความชื้นและอุณหภูมิ ในชั้นเรียนนี้เราจะบอกว่าผีเสื้อชอบดอกไม้หรือนกยูงอยากอวดแววมยุราที่มันภูมิใจก็ไม่ได้ ที่สำคัญ
 
คำอธิบายเหล่านี้ไม่ได้มีไว้สำหรับสัตว์เท่านั้น เพราะพฤติกรรมของคนก็มีกฎเกณฑ์อย่างเดียวกัน
 
อารมณ์ไม่เพียงแต่ไม่มีฐานะของสิ่งที่ควรสนใจศึกษา เพราะมันเป็นสภาวะที่ไร้ตัวตนที่จะตรวจวัดได้อย่างเป็นภาวะวิสัยเท่านั้น แต่อารมณ์ยังดูจะเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับนักวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะอารมณ์ถูกทำให้มีความหมายเท่ากับอคติและจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สูญเสียความเป็นภาวะวิสัยในการศึกษาค้นคว้า แต่นักวิทยาศาสตร์จะปราศจากอารมณ์ได้หรือ อย่างน้อยหากจะค้นคว้าอะไรให้ได้จริงๆ จังๆ นักวิทยาศาสตร์ก็น่าจะมีอารมณ์อยากที่จะค้นคว้าอยู่บ้าง
 
ผมเคยได้คุยกับนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันที่ไปทำวิจัยอยู่ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ชั้นสูงที่เกียวโต ผมถามเขาว่านักคณิตศาสตร์อย่างพวกเขาทำงานกันอย่างไร วันๆ เอาแต่คิดเลขและคำนวณหรือเปล่า
 
เขาบอกว่า ทุกวันที่ตื่นขึ้นในตอนเช้า สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนการทำงานคือการสร้างอารมณ์ให้เกิดความเสน่หาในโจทย์คณิตศาสตร์ที่ต้องการแก้ เพราะโจทย์ยากๆ เหล่านี้ บ่อยครั้งต้องใช้เวลานานๆ ในการแก้
 
และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ถ้าไม่มีอารมณ์อยากแก้โจทย์ มันพาลจะคิดอะไรไม่ออกเอาซะเลย
 
ผมไม่ทราบว่านักคณิตศาสตร์ชั้นสูงคนอื่นๆ จะเป็นเหมือนกันหรือเปล่า แต่ถ้างานมันยากและเรามีอารมณ์เบื่อหน่ายก็คงทำให้สำเร็จได้ยาก
 
การที่อารมณ์ถูกมองว่าเป็นอัตวิสัยและทำให้การวิจัยมีอคติได้นั้นทำให้นักวิจัยทางวิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรต่างๆ ในการทดลองโดยต้องไม่ให้อารมณ์เข้ามารบกวน การวิจัยที่ปลูกหูของมนุษย์ไว้บนแผ่นหลังของหนูทดลองก็เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องรู้สึกอะไร
 
ผมทราบจากการประชุมจิตวิวัฒน์เช่นกันว่า การทดลองวิทยาศาสตร์เพื่อเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำนั้น แม่พันธุ์กุ้งซึ่งต้องไปจับเอามาจากทะเลในธรรมชาตินั้นจะต้องถูกตัดลูกนัยน์ตาออก และเอาลูกนัยน์ตาของมันมาบดให้แหลกละเอียดแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายของมันเอง
 
เพราะลูกนัยน์ตาของแม่กุ้งจะมีฮอร์โมนทางเพศที่กระตุ้นการออกไข่
 
แม่กุ้งหนึ่งตัวจะถูกตัดลูกนัยน์ตาทีละข้าง จึงตั้งท้องและวางไข่ได้สองครั้งก็จะตาบอดทั้งสองข้าง เมื่อตาบอดและไม่มีลูกนัยน์ตาให้ใช้ได้ก็หมดประโยชน์
 
ผมไม่ทราบว่าการที่นักวิจัยทำการตัดลูกนัยน์ตากุ้งออกได้โดยไม่ต้องรู้สึกอะไรจะทำให้นักวิจัยสามารถทำอะไรอย่างอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องรู้สึกอะไรไปด้วยหรือไม่ แต่อย่างน้อยเราก็คงจะเห็นได้ว่า การที่นักวิทยาศาสตร์ถูกทำให้ไม่ต้องรู้สึกกับสิ่งที่ทำนี้ก็อาจไม่ต่างไปจากที่พ่อแม่ชาวปกาเกอะญอกันเด็กๆ ออกไม่ให้มาแสดงความรู้สึกรักหรือสงสารหมูที่กำลังถูกฆ่า
 
อารมณ์ถูกจัดการให้มีที่ทางของมันได้  ในแวดวงทางวิทยาศาสตร์นั้น อารมณ์ถูกเก็บเงียบไว้ได้ด้วยการทำให้นักวิทยาศาสตร์ไม่คิดอะไรมากไปกว่าการก้มหน้าก้มตาทำตามเทคนิควิธีการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บางประการโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก
 
วิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องอารมณ์ Science of Emotion
 
ราว 160 ปีก่อน ใน ค.ศ. 1848 คนงานก่อสร้างทางรถไฟในนิวอิงค์แลนด์กำลังขยายทางรถไฟในรัฐเวอร์มอนต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ฟีนี่ส์ เคจ เป็นคนงานที่รับผิดชอบด้านการระเบิดหินที่ขวางทางตามแนวที่จะวางรางรถไฟ ในการระเบิดหินโดยเฉพาะภูเขาหินขนาดใหญ่ ฟีนี่ส์ เคจจะต้องขุดหินเป็นโพรงลึกเพื่อนำดินระเบิดเข้าไปใส่ไว้ในโพรงแล้วอัดทับด้วยทรายให้แน่น เมื่อทุกคนหลบอยู่ในระยะที่ปลอดภัยจึงใช้สายชนวนจุดระเบิด
 
ฟีนี่ส์ เคจเป็นคนงานที่ทำงานนี้ได้ดีที่สุดและไว้วางใจได้มากที่สุดคนหนึ่งของบริษัท
 
บ่ายสี่โมงครึ่งของวันหนึ่งในฤดูร้อน ฟีนี่ส์ เคจขุดโพรงหินด้วยชะแลงเหล็กของเขาที่เขาสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ หลังจากเอาดินระเบิดใส่ใว้จนเต็ม เขาบอกให้ลูกน้องที่ช่วยงานอยู่ให้เอาดินทรายมาใส่ทับปิดปากหลุม หลังจากหันไปคุยกับเพื่อนร่วมงานเพียงไม่กี่นาที ฟีนี่ส์ เคจก็ใช้เหล็กชะแลงอัดลงในหลุมเพื่อกระแทกทรายให้แน่น
 
เพราะเขาคิดว่าลูกน้องได้เอาทรายใส่ทับปิดปากหลุมแล้ว แต่ปรากฏว่าในหลุมไม่มีทรายสักเม็ดเดียว เหล็กชะแลงของฟีนี่ส์ กระแทกผ่านดินระเบิดไปปะทะกับหินในหลุมเกิดเป็นประกายไฟจุดดินระเบิดที่อัดแน่นอยู่ในหลุมระเบิดสนั่นหวั่นไหวใส่ที่ใบหน้าของฟีนี่ส์ เคจเต็มแรง
 
ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าแรงระเบิดก็คือ เหล็กชะแลงที่เขาถืออยู่ มันโดนแรงระเบิดและพุ่งออกจากหลุมดินระเบิด กระแทกเข้าที่โหนกแก้มด้านซ้าย พุ่งทะลุผ่านกะโหลกศีรษะของฟีนี่ส์ เคจไปออกที่ตรงกลางศีรษะเหนือหน้าผาก ท่อนชะแลงเหล็กที่เป็นเหมือนกระสุนขนาดใหญ่ ทะลวงทะลุศีรษะของฟีนี่ส์ เคจ ลอยไปตกบนพื้นห่างออกไปเกือบสามสิบเมตร ร่างของฟีนี่ส์ เคจ กระเด็นลอยไปตกลงพื้น ไม่ตาย ไม่สลบ และรู้สึกตัวดี
 
ฟีนี่ส์ เคจยังตะลึงงันกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด
 
แต่ที่ตะลึงยิ่งไปกว่าตัวฟีนี่ส์ เคจเองก็คือ คนงานในเหตุการณ์ที่คิดว่าฟีนี่ส์ เคจน่าจะเสียชีวิตทันที แต่เขากลับมีเพียงอาการกระตุกที่แขนขาเล็กน้อยและรู้สึกตัวดี แถมพูดคุยได้เหมือนคนปกติ ฟีนี่ส์ เคจถูกหามใส่รถม้าส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงแรมที่ห่างออกไปไม่กี่สิบเมตร ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะมีรูเปิดที่ศีรษะและบาดแผลเหวอะหวะของสมอง ฟีนี่ส์ เคจเดินลงจากรถม้าด้วยตัวเอง
 
แพทย์ที่มาให้การรักษาถึงกับอึ้งกับบาดแผลและทึ่งกับการรู้สึกตัวเป็นปกติของฟีนี่ส์ เคจ เขาเขียนไว้ในบันทึกการแพทย์ว่า ฟีนี่ส์ เคจมีบาดแผลจากวัตถุที่พุ่งทะลุโหนกแก้มไปออกที่เหนือหน้าผากกลางศีรษะ เป็นบาดแผลขนาดใหญ่ที่เห็นเนื้อสมองเต้นตุ๊บๆ อยู่ข้างใน
 
แต่ฟีนี่ส์ เคจก็รู้สึกตัวดี ตอบคำถาม และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน  
 
ฟีนี่ส์ เคจพักรักษาตัวอยู่เพียงสองเดือนก็หายอย่างอัศจรรย์ โดยไม่มีการติดเชื้อรุนแรง แต่ที่ประหลาดและน่าฉงนสนเท่ห์มากกว่าอุบัติเหตุ อาการและการหายป่วยของฟีนี่ส์ เคจก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฟีนี่ส์ เคจหลังอุบัติเหตุครั้งนั้น
 
เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหันมาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผล สมองกับอารมณ์กันใหม่
 
เพราะหลังฟื้นตัวจากอุบัติเหตุ แม้ฟีนี่ส์ เคจจะไม่ปรากฏมีอาการผิดปกติของร่างกาย ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ไม่มีอาการลิ้นแข็ง ไม่มีอาการเดินผิดปกติหรือมือไม้สั่น ไม่มีความผิดปกติของการพูดหรือการใช้ภาษา ซึ่งเป็นอาการที่รู้กันว่ามักพบในผู้ที่มีความผิดปกติของสมอง
 
แต่ ฟีนี่ส์ เคจกลับไม่ใช่ฟีนี่ส์ เคจคนเดิม  สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือของเขา คืออารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรง มุทะลุดุดัน และหยาบคาย จากฟีนี่ส์ เคจที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการงาน ตัดสินใจในการทำงานด้วยเหตุผล และมีความยับยั้งชั่งใจ กลายมาเป็นฟีนี่ส์ เคจที่มีแต่ความหุนหันพลันแล่นและอารมณ์ที่รุนแรง
 
เคจต้องออกจากงานไปรับจ้างเป็นคนเลี้ยงม้า จากนั้นไปร่วมแสดงในคณะละครสัตว์ที่โชว์ของแปลก ซึ่งเขาจะถือท่อนเหล็กที่มันเคยเสียบทะลุหัวของเขาไปเดินโชว์ให้คนเห็นตัวจริงเป็นๆ ของคนที่ผู้ชมเคยอ่านจากข่าวอุบัติเหตุ แต่เขาทำงานนี้อยู่ได้ไม่นานก็ออกเดินทางไปเผชิญโชคในอเมริกาใต้ และกลับมาอยู่กับแม่และน้องสาวที่ซาน ฟรานซิสโก และเสียชีวิตเงียบๆ ที่นั่น 
 
เรื่องราวของฟีนี่ส์ เคจเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กรณีศึกษาที่นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาใช้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิตใจ อารมณ์ และชีวิตทางสังคมของมนุษย์
 
อาจกล่าวได้ว่าในระยะเกือบสองร้อยปีที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ และเมื่อวิทยาศาสตร์มาศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก วิทยาศาสตร์ก็จะให้ความสำคัญกับอารมณ์รุนแรงและเป็นอารมณ์ร้ายเช่น ความก้าวร้าว มากกว่าเรื่องอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่องของความเมตตากรุณาหรือความเอื้ออาทร (Davidson and Harrington 2002)
 
ในทางการแพทย์เรามีหลักฐานงานวิจัยที่ศึกษาผลร้ายของอารมณ์โกรธ ความก้าวร้าวและการซึมเศร้าว่ามีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าเรื่องผลต่อสุขภาพของอารมณ์เชิงบวก เช่น ความรัก ความอบอุ่นและความสุข (Goleman 1997)
 
ในช่วงทศวรรษหลังนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องของจิต วิญญาณ และอารมณ์  พร้อมๆ กับความสนใจเรื่องจิต นักวิทยาศาสตร์ก็ได้หันมาเรียนรู้จากปรัชญาและศาสนาของตะวันออกโดยเฉพาะพุทธศาสนา
 
ในปี ค.ศ. 1995 นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำกับนักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้จัดเวทีเสวนากับองค์ทะไลลามะขึ้น เป็นการพูดคุยในเรื่องอารมณ์ ความเมตตากรุณาและจริยธรรมจากมุมมองของวิทยาศาสตร์  
 
ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์มักมองแบบแยกส่วน คือให้ความสำคัญกับการหาสารเคมีในสมองหรือแยกสมองออกเป็นส่วนๆ และหาดูว่าส่วนของสมองส่วนไหนทำหน้าที่อะไรเป็นสำคัญ  ซึ่งก็ทำให้เราได้ความรู้ใหม่มากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
 
อย่างเช่นในกรณีของฟีนี่ส์ เคจ ปัจจุบันเราก็เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า สมองส่วนหน้าด้านซ้ายของฟีนี่ส์ เคจซึ่งถูกชะแลงเหล็กทะลวงผ่านนั้น เป็นส่วนของสมองที่มีความสำคัญด้านอารมณ์
 
ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหรือประสบอุบัติเหตุทำลายสมองส่วนนี้จึงมักมีอารมณ์แปรปรวน ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ หรือในบางกรณีไม่มีอารมณ์และความรู้สึกบางอย่างเช่น ความอาย ความรู้สึกผิดและความภาคภูมิใจ ซึ่งมีผลอย่างใหญ่หลวงต่อการมีชีวิตในสังคม
 
แต่ถ้าเราคิดอย่างนี้ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนอารมณ์และชีวิตทางสังคมให้เหลือแค่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีและโครงสร้างของระบบประสาทในสมองเท่านั้น การกล่าวเช่นนี้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะมีการค้นพบที่น่าสนใจมากอีกหลายประการที่แสดงให้เห็นกลับกันว่า โครงสร้างระบบประสาทในสมองของเราเป็นผลจากการใช้ความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ ด้วย
 
มีงานวิจัยพบว่าในหมู่คนขับรถแท็กซี่ที่ต้องใช้จินตนาการเรื่องทิศทางและวาดภาพแผนที่การเดินทางบ่อย สมองส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างจินตภาพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพื้นที่ จะมีขนาดใหญ่กว่ามากกว่าคนในอาชีพอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่าการปฏิบัติภาวนา หรือการหมั่นฝึกฝนหมั่นใชังานจะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็ได้
 
นอกจากนั้น สมองที่ผิดปกติยังสามารถเยียวยาได้จากสังคมและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมอีกด้วย ในผู้ป่วยที่สมองสองซีกถูกตัดแยกออกจากกัน ซึ่งทำให้กลายเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเป็นสองคน สองความรับรู้และสองความคิด มีชีวิตและการแสดงออกเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับว่าสมองซีกไหนมีอำนาจมากกว่า
 
เมื่อมีชีวิตอยู่ต่อไประยะหนึ่ง ความแปลกแยกของการมีสองความรู้สึกนึกคิดก็จะถูกสังคมและวัฒนธรรมหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นใหม่ได้ ทั้งที่เนื้อสมองทั้งสองซีกยังถูกตัดแยกขาดจากกันอยู่ อาจเห็นได้ไม่ยากว่า สมอง อารมณ์และสังคมนั้นเกี่ยวข้องเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างซับซ้อนเกินกว่าที่จะคิดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำหนดสิ่งอื่นที่เหลืออย่างเบ็ดเสร็จได้
 
นอกจากอารมณ์ สังคมและสมองจะแยกออกจากกันได้ยากแล้ว นักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจำนวนหนึ่งยังเห็นว่าอารมณ์และเหตุผลเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากกัน (Damasio 1994) ในหนังสือชื่อ ความผิดพลาดของเดส์การ์ต (Descartes’ Error) นั้น ดามาสิโอ ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาได้เสนอแนวคิดว่า การตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์ที่ถือว่าเป็นไปด้วยเหตุด้วยผลนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หากไม่มีส่วนของอารมณ์และความรู้สึกมาประกอบ
 
เหตุผลกับอารมณ์เป็นวงจรควบขนานกันและแยกขาดจากกันไม่ได้เลย สำหรับมนุษยศาสตร์แล้ว ทัศนะดังกล่าวไม่ได้มีความหมายอะไรมากนัก แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้วมันมีนัยยะสำคัญต่อทัศนะของวิทยาศาสตร์ที่มีต่ออารมณ์ไม่น้อย
 
อารมณ์กลายเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์พร้อมๆ กับความตื่นตัวในการศึกษาเรื่องจิตและจิตสำนึก (Mind and consciousness) และถึงแม้เนื้อหาและวิธีการศึกษาจะมีอยู่หลากหลาย กระบวนทัศน์หลักก็ยังเป็นการพยายามแสวงหาคำอธิบายอารมณ์ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีเป็นสำคัญ
 
ไม่ว่าจะเป็นการพยายามระบุตำแหน่งต่างๆ ของสมองที่ทำหน้าที่ทางอารมณ์หรือการหาสารเคมีในสมอง (Neurotransmitter) ต่างๆ ที่รับผิดชอบต่อการเกิดขึ้นของอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งเป็นการพยายามที่จะหาที่มาของอารมณ์ว่ามีรากฐานมาจากสิ่งที่ตรวจวัดได้อย่างเป็นภาวะวิสัยเป็นสำคัญ โดยไม่ได้ให้ความสนใจมากนักกับการศึกษาเรียนรู้อารมณ์ผ่านวิธีวิทยาอย่างอื่น
 
อารมณ์กับการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์ Emotion and Modern Scientific Medicine
การแพทย์สมัยใหม่เป็นศาสตร์ที่มีฐานคิดอย่างมั่นคงในกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนและกลไก การทำความเข้าใจโรคและการจัดการกับความเจ็บป่วยจึงเน้นการตรวจรักษาในสิ่งที่ตรวจวัดได้อย่างเป็นภาวะวิสัย
 
ผมเคยได้ฟังเรื่องราวของทันตแพทย์ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยทุกคนบอกอาการปวดด้วยวิธีเดียวกันเป็นมาตรฐาน คือให้พูดเป็นตัวเลข หมอฟันคนนี้กำหนดให้อาการปวดสุดขีดถึงขั้นทนไม่ได้ว่าเป็นระดับ 10 ไม่ปวดเลยคือ 0 คนไข้ที่มาตรวจไม่ต้องพูดบรรยายอะไรเลย และก็ไม่ต้องร้องอูยๆ ด้วย
 
แต่ให้พูดคำเดียวคือหมายเลขที่บอกระดับความปวด แต่ละคนเมื่อเดินเข้ามาในห้องเพื่อให้ทันตแพทย์คนนี้ตรวจจะพูดเพียงแค่หมายเลข เช่น 8 หรือ 3 แล้วก็เดินไปนั่งอ้าปากให้หมอฟันทำการรักษา
 
การใช้ตัวเลขแทนความรู้สึกเป็นวิธีการที่ถูกใช้ในการวิจัยทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย ตัวเลขความเจ็บปวดที่เรียกว่า Pain score เป็นวิธีการเทียบความรุนแรงของอาการปวดจากศูนย์ถึงสิบ ตัวแทนของความเจ็บที่เป็นตัวเลขเป็นตัวอย่างของการพยายามทำสิ่งที่เป็นความรู้สึกให้เป็นตัวเลข ซึ่งก็อาจใช้ได้กับอารมณ์ด้วย เช่น กลัวสุดขีด รักสุดหัวใจ เศร้าสุดแสน ก็อาจแทนได้ด้วยเลข 10 แต่ตัวเลขเชิงปริมาณอาจเป็นการยากที่จะทดแทนอารมณ์ความรู้สึกซึ่งมีมิติเชิงคุณภาพ
 
การสื่อให้เข้าใจความรู้สึกจึงมักต้องอาศัยการบรรยายด้วยคุณศัพท์ที่ผู้ฟังจะเข้าใจได้ระดับหนึ่งหรือด้วยเรื่องเล่าที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ที่ใกล้เคียงกัน แต่ในวงการแพทย์นั้น น้ำหนักของข้อมูลทางการแพทย์จะอยู่ที่ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง (Fact) มากกว่าเรื่องเล่า (Story) แพทย์จึงมักซักประวัติหาข้อเท็จจริงสำหรับการจ่ายยามากกว่าที่จะนั่งฟังคนไข้เล่าเรื่องเพื่อการเยียวยา
 
จะว่าไปแล้วการที่แพทย์ซักประวัติผู้ป่วยโดยให้ความสนใจเฉพาะข้อเท็จจริงเช่น ป่วยมากี่วัน ปวดท้องบริเวณไหน ปัสสาวะสีอะไร ปวดศีรษะด้วยหรือเปล่า และถ้าปวด ปวดอย่างไร ปวดแปร๊บๆ ปวดตึ๊บๆ หรือปวดจี๊ดๆ (ไม่ใช่ปวดปานประหนึ่งเปลวไฟบรรลัยกัลป์เผาไหม้อยู่ในกะโหลกศีรษะ)
 
แต่ไม่ใส่ใจกับเรื่องราวที่ผู้ป่วยเล่า (เช่น ลูกสาวไปทำงานต่างประเทศ ถูกโกงค่าจัดหางานทำให้เป็นหนี้สิน) นี้เป็นวิธีการจัดการไม่ให้อารมณ์เข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในกระบวนการรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่ง เพราะเรื่องราวที่บอกเล่าอย่างดีจะทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งทางการแพทย์เกรงว่าจะทำให้การตัดสินใจทางคลินิกไม่เป็นไปอย่างเป็นกลาง
 
การที่แพทย์ต้องทำงานอยู่กับชีวิตของผู้คนและต้องตัดสินใจโดยไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกมาปะปนนั้น ด้านหนึ่งก็มีเหตุผล เพราะหากหมอมีอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีกับคนไข้ และเอาความรู้สึกนึกคิดนั้นมาปนกับวิจารณญาณในการรักษา ก็อาจทำเรื่องเลวร้ายให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การตัดอารมณ์ความรู้สึกออกจากการรักษาพยาบาลก็อาจทำให้แพทย์กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่รู้สึกรู้สมกับความทุกข์ยากหรือความเจ็บปวดของคนไข้
 
แต่แพทย์ก็ไม่ใช่หุ่นยนต์ และบางครั้งอารมณ์ความรู้สึกก็เป็นเรื่องที่บังคับไม่ได้เสมอไป ริชาร์ด เซลเซอร์ (Richard Selzer) ศัลยแพทย์นักเขียนได้กล่าวถึงอารมณ์ความรู้สึกของแพทย์ไว้ในหนังสือที่เขาเขียนเล่าเรื่องราวสะท้อนความเป็นมนุษย์ของแพทย์ชื่อ Letters to a Young Doctor (Selzer 1996)
 
เขากล่าวถึงการที่ศัลยแพทย์ต้องทำงานกับร่างอันเปลือยเปล่าของอิสตรี ในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ ไว้ว่า
 
“…to gaze upon the beautiful unclothed body is a spur to the lustful imagination. ... To deny the existence of these urges is to deny your humanity. To fail to suppress these urges is to accept a condition of bestiality.”
 
แต่ ริชาร์ด เซลเซอร์ก็ไม่ได้เป็นแพทย์ธรรมดา เขาเป็นนักเขียนมีฝีมือ การเป็นนักเขียนคงมีส่วนช่วยให้เขาครุ่นคิดและตรึกตรองเรื่องราวได้ลุ่มลึกและอ่อนไหวกับสิ่งที่แพทย์ทั่วไปอาจไม่รู้สึก
 
เพราะกระบวนการฝึกคนให้เป็นแพทย์นั้นมีส่วนทำให้ความละเอียดอ่อนต่อมิติของความเป็นมนุษย์ระเหิดหายไป เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง Patch Adams ที่คณบดีโรงเรียนแพทย์ประกาศภารกิจที่ยิ่งใหญ่ต่อหน้านักศึกษาแพทย์ที่เพิ่งรับเข้าใหม่ว่า
 
“งานของเราคือ ฝึกพวกคุณอย่างหนัก เอาความเป็นมนุษย์ออกจากตัวคุณ เพื่อให้คุณเป็นดีกว่านั้น เราจะทำให้คุณเป็นแพทย์”
 
ในความเป็นจริงสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์คงไม่มีใครประกาศว่าจะลบล้างความเป็นมนุษย์ออกอย่างนี้ เพราะเอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าสถาบันการศึกษาต่างๆ อาจไม่ตระหนักเสียด้วยซ้ำว่า สิ่งที่นักศึกษาแพทย์สูญเสียไปนั้นคือ ความเป็นมนุษย์
 
แต่มิติทางอารมณ์ที่สูญหายไปจากการแพทย์นั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยถูกกระทำราวกับไม่มีอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น วิธีคิดดังกล่าวยังได้พรากชีวิตในทางอารมณ์ (Emotional life) ไปจากการเป็นแพทย์ด้วย
 
ความพยายามในระยะหลังของการฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ในแวดวงการแพทย์ เช่นการมีแผนงานด้าน Medical Humanities และโครงการ Arts and Humanities in Medicine ในมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ รวมทั้งการเกิดขึ้นของวารสาร Medical Humanities ในตะวันตกนั้น ได้ทำให้มีการทบทวนการเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์และความเป็นมนุษย์ในแวดวงแพทยศาสตร์ศึกษามากขึ้น และการเรียนรู้ทางอารมณ์ในหลักสูตรมนุษยศาสตร์การแพทย์หลายแห่งอาศัยการเรียนรู้ทั้งในด้านสุนทรียภาพ กวี มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์และการเขียนเรื่องเล่าเป็นเครื่องมือ
 
ตัวอย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล มีโปรแกรมที่เรียกว่า Medical Humanity Program ซึ่งเอาแพทย์ประจำบ้านไปทำเวิร์คช็อปกับกวีและนักเขียน ฝึกให้อ่านบทกวีและเขียนเรื่องสั้น เมื่อติดตามเรสซิเดนท์กลุ่มนี้ไปหลังการทำเวิร์คช็อปก็พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ๓ ข้อ
 
ข้อแรก เกิดการระมัดระวังในการใช้ภาษาเมื่อมีการสื่อสารพูดคุยกับผู้ป่วย เพราะเมื่อเรียนเรื่องภาษาในบทกวีหรือเขียนเรื่องสั้นจะได้เรียนรู้ว่าภาษามีหลายแง่มุม เข้าใจไปได้ต่างๆ กัน และมักเข้าใจผิดกันได้ง่าย
 
ข้อที่สอง จะเกิดความละเอียดอ่อนในแง่ที่รู้จักคิดและรู้สึกแทนคนอื่นได้ เพราะการเขียนทำให้ต้องเข้าไปรู้สึกแทนผู้อื่น
 
ข้อที่สาม เกิดสิ่งที่เรียกว่า การไตร่ตรองครุ่นคิดกับชีวิตของตัวเอง (Deep Reflection) มากขึ้น ปัจจุบันมีโปรแกรมมนุษยศาสตร์การแพทย์ลักษณะนี้ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่ง
 
References:
Damasio, Antonio. 1994. Descartes' Error: Emotion, Reason and the Human Brain. London: Papermac.
Davidson, Richard J., and Anne Harrington, eds. 2002. Visions of Compassion: Western Scientists and Tibetan Buddhists Examine Human Nature. Oxford: Oxford University Press.
Goleman, Daniel. 1997. Afflictive and Nourishing Emotions: Impacts on Health. In Healing Emotions, edited by D. Goleman. Boston and London: Shambhala.
Gouk, Penelope, and Helen Hills. 2005. Towards Histories of Emotions. In Representing Emotions, New Connections in the Histories of Art, Music and Medicine, edited by P. Gouk and H. Hills. Aldershot, Hants, UK and Burlington, USA: Ashgate.
Selzer, Richard. 1996. Letters to a Young Doctor. San Diego, New York and London: A Harvest Book.


หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน