รถเข็น (0 ชิ้น)
 
มานุษยวิทยาการแพทย์กับผัสสะที่ IUAES 2014

เขียนโดย gam pata
พุธ 04 มิถุนายน 2557 @ 04:30


เล่าเรื่องการประชุม International Union for Anthropological and Ethnological Science 
เรื่อง Sensory Experience of Healing and Suffering ที่เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น

การประชุมนานาชาติของ International Union of Anthropological and Ethnological Sciences ถือเป็นเวทีระดับนานาชาติที่สำคัญที่นักมานุษยวิทยา ทั้งนักวิชาการ นักวิจัยและผู้ปฏิบัติการด้านสังคมวัฒนธรรมร่วม 2,000 คนจากทั่วทุกมุมโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน มีการบรรยายพิเศษและมีเวทีสำหรับนำเสนอผลงานวิชาการรวมมากกว่า 250 panels การไปร่วมประชุมครั้งนี้เป็นการไปในฐานะผู้ร่วมจัด (Panel organizer) ด้านมานุษยวิทยาการแพทย์ภายใต้หัวข้อเรื่อง The Sensory Experiences of Suffering and Healing ซึ่งใน panel นี้มีบทความมานำเสนอจำนวนทั้งสิ้น 9 บทความด้วยกัน

การจัด Panel นี้เป็นความร่วมมือกับ Junko Iida จาก Kawasaki University of Medical Welfare ซึ่งมีความร่วมมือทางวิชาการมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ นับตั้งแต่ได้เขียนบทความเรื่อง Illness Experience and the Soundscape of Everyday Life ตีพิมพ์ไว้ใน Journal of Culture, Medicine and Psychiatry เป็นเรื่องราวความเจ็บป่วยของ โสภาที่ภาวะหมดเรี่ยวแรง ใจสั่น นอนไม่หลับและตกใจง่ายของเธอเกิดขึ้นในโลกของเสียงที่ทำให้เธอไร้อำนาจและถูกคุกคามจาก โสตสัญญะที่กระทำจนเธอหมดทางสู้ แม้บทความเกี่ยวกับ Sensory Experience นี้จะเขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 แต่กระแสความสนใจในเรื่องมานุษยวิทยาแห่งผัสสะ หรือ Anthropology of the senses, sensory anthropology หรือ anthropology of sensory experience ก็ดูจะไม่ลดน้อยถอยลง ทั้งยังมีความลุ่มลึกเชื่อมโยงไปสู่การศึกษาเชิงปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ได้อย่างน่าสนใจ การเดินทางมาประชุมครั้งนี้จึงทำหน้าที่ทั้งเป็นประธานและวิพากษ์งานวิชาการทั้ง 9 ชิ้นในเวที The Sensory Experiences of Suffering and Healing

นอกจากนั้น การประชุม International Union of Anthropological and Ethnological Sciences ในปีหน้า (ค.ศ. 2015) นี้จะมีการจัดขึ้นในประเทศไทย โดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพหลัก และสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพเป็นองค์กรร่วมจัด การเดินทางไปครั้งนี้นอกจากจะเป็นกิจกรรมทางวิชาการแล้ว ยังเป็นการไปสังเกตการรูปแบบการประชุมรวมทั้งทำความรู้จักกับเครือข่ายและผู้มีบทบาทต่างๆ ในองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย

บทความวิชาการทั้ง 9 บทและความเห็นทางวิชาการ

บทความทั้ง 9 บทที่ได้มาเสนอความเห็นนั้นแม้จะดูเหมือนยังเขียนไม่เสร็จสมบูรณ์เสียส่วนใหญ่ แต่ก็คงเหมือนกับบทความที่นำเสนอในที่ประชุมทั้งหลายที่เอาร่างมาทดลองนำเสนอ พอได้ความเห็นจากเวทีและผู้วิพากษ์แล้วก็กลับไปปรับแก้และหาทางตีพิมพ์ต่อไป บทความทั้ง 9 มีเนื้อหาหลากหลาย

เรื่องแรก ผัสสะและอารมณ์ในผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ซึ่งมีการนำเอาแนวคิดเรื่อง Mood and attunement ของ Heidegger มาวิเคราะห์และแสดงให้เห็นการมองปรากฏการณ์แบบก้าวพ้นการมองแบบแยกกาย-จิตไปได้อย่างน่าสนใจ

เรื่องที่สอง เป็นบทความของ Dr Susanne Ådahl, Postdoctoral Researcher จาก Center for the Study of Culture and Health, University of Turku, Finland ชื่อ “Learning to listen: incorporating voices into the self” เป็นการศึกษาประสบการณ์ของคนที่ได้ยินเสียงแว่วในหู ซึ่งในวัฒนธรรมดั้งเดิมอาจไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติหรือเป็นโรคประสาทหูหลอน หรือ Hallucination เหมือนอย่างที่การแพทย์แผนปัจจุบันยึดถือ แต่ถือว่าเกิดกับบุคคลที่มีญาณวิเศษที่สามารถรับฟังเสียงที่มนุษย์ธรรมดาไม่อาจได้ยิน แต่ในโลกสมัยใหม่ การได้ยินเสียงคนพูดกับเราโดยไม่มีตัวคนพูดกลายเป็นโรคที่ต้องรักษา ในขณะที่มานุษยวิทยาว่าด้วยเรื่องร่างกายจะพูดถึง Embodiment และ Embodied knowledge แต่บทความนี้ดึงความสนใจไปหา Disembodied voice ที่ผู้มีเสียงแว่วได้ยิน บทความนำเสนอแนวทางการเยียวยาที่ไม่ได้ทำให้เสียงหายไปด้วยการใช้ยาไปกดทับ แต่เป็นการแสวงหาแนวทางการอยู่กับเสียงแว่วอย่างมีความเข้าใจและไม่แปลกแยกกับเสียงที่ไม่มีตัวตนนั้นๆ

เรื่องที่สาม เป็นเรื่อง Fundamental Perceptions: Why Patients in a Palliative Care Ward Close to Death Receive Rehabilitation โดย Matsuoka Hideaki จาก Center for the Study of Communication-Design, Osaka University เป็นการศึกษาความรับรู้ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มาทำการบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย บทความนี้กล่าวถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าของผู้ป่วยที่แม้รู้ตัวว่าตนจะตาย แต่เมื่อสามารถประคองให้ลุกยืนได้ก็จะรู้สึกดีกับชีวิตของตนเอง ซึ่งเหมือนกับที่คนทำงานชุมชนมักพูดว่า ถ้าคนนอนติดเตียงแล้วสามารถทำให้ลุกยืนได้ ความรู้สึกนึกคิดจะเปลี่ยน อ่านบทความนี้แล้วทำให้นึกถึงหนังสือชื่อ Primacy of Movement ของ Maxine Sheets-Johnstone นักปรัชญาสายปรากฏการณ์วิทยาที่เสนอว่า มนุษย์วิวัฒน์จากการเคลื่อนไหวคล้ายสัตว์มาสู่เรือนร่างที่ยืนในแนวตั้ง การเคลื่อนไหวของร่างกายแนวตั้งนี้ได้กลายเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เรามองโลกจากร่างกายที่มีท่าทางและการเคลื่อนไหวแบบนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าลึกๆ เราจึงมีทัศนคติที่แปลกแยกต่อการนอนและการมองโลกในแนวนอน

เรื่องที่สี่ The Experience of Experience: Phenomenological Diagnosing without Object-Making in East Asian Medical Settings ของ Taewoo Kim ที่เขียนชื่อบทความเต็มก็เพราะบทนี้น่าสนใจตรงที่ศึกษาปรากฏการณ์วิทยาของ หมอแผนโบราณเกาหลีโดยนักวิจัยไปเรียนเป็นแพทย์แผนโบราณและสังเกต สีของใบหน้าผู้ป่วยที่ตามตำราระบุว่า สีหน้าคนไข้จะสะท้อนโรคภายในที่มี แต่นักวิจัยมองเท่าไรก็ไม่เคยเห็นหน้า สีฟ้าจนกระทั่งวันหนึ่งเกิดการแว๊บขึ้นจากการมองเห็นหน้าคนไข้คนหนึ่งที่ทำให้ ความเป็นสีฟ้าของใบหน้านั้นปรากฏกระจ่างในจิตของนักวิจัยเอง ซึ่งอาจเรียกไว้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก Cognitive understanding คือเข้าใจจากการฟังว่ามันมีแบบนี้ มาเป็น Embodied understanding เป็นการเข้าใจแบบอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ (คือ Verbalize ไม่ได้) ผู้เขียนเสนอว่านี่เป็นวิธีการรู้ของภูมิปัญญาตะวันออกที่เน้นการรู้ผ่าน ประสบการณ์ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นในเนื้อในตัว (Somatic form) มากกว่าการสร้าง วัตถุแห่งการรู้อย่างเป็นภาวะวิสัย” (objectified form) สำหรับผม บทความนี้อ่านสนุกเป็นพิเศษ แต่จะว่าไปก็ไม่ใช่เฉพาะการแพทย์ภูมิปัญญาตะวันออกเท่านั้นที่อาศัยการรู้แบบนี้ แพทย์สมัยใหม่ก็ต้องเรียนวิธีฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ หรือแม้แต่การดูฟิล์มเอ็กซเรย์ก็มีแง่มุมที่คล้ายกันนี้เหมือนกัน

บทต่อมาเป็นเรื่องแพทย์พื้นบ้านเกาหลีอีกเหมือนกัน แต่เป็นหมอจับชีพจร (หมอแม๊ะ) เป็นบทความชื่อ Embodied Perceptiveness of Pulse Touching in Korean Medicine นำเสนอโดย Sunyoung Han นักวิจัยจากเกาหลีใต้ ซึ่งเอาแนวคิดเรื่อง Sense of touch มามองดูประสบการณ์การเรียนรู้วิธีการวินิจฉัยโรคของหมอแม๊ะ นักวิจัยก็ไปฝึกเป็นหมอแม๊ะทำให้ได้ประสบการณ์ตรงและสามารถวิเคราะห์ได้ลึกซึ้ง โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับการวิเคราะห์หมอจับชีพจรของ Valentine Daniel ที่ศึกษาหมอสิทธาในอินเดีย แม้จะมีข้อถกเถียงคล้ายกันว่า การสัมผัสชีพจรไม่อาจเข้าใจได้ผ่านการวิเคราะห์เชิงสัญญะ (โดย Valentine Daniel ได้วิเคราะห์ผ่านสัญญะที่แยกเป็น 3 อย่างคือ Icon, index และ symbol) แต่การไม่มีประสบการณ์ทางร่ายกายจริงๆ โดยตรงก็ยากที่จะวิเคราะห์ได้ดีเท่ากับคนที่ลองไปเป็นหมอแม๊ะมาแล้ว

บทต่อมาเรื่อง Italian Lullaby, Ethnography of a Music Therapy project in pediatric hospitals, right before sleep time โดย Leonardo Menegola เป็นงานวิจัยที่เรื่องดนตรีบำบัดในอิตาลี ที่ติดตามศึกษานักดนตรีบำบัดที่ใช้รูปแบบหนึ่งของการกล่อม (Lullaby) ช่วยในกระบวนการเยียวยา โดยนักดนตรีเหล่านี้จะเข้าไปแสดงดนตรีในวอร์ดผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ เป็นการแสดงแบบไร้รูปแบบตายตัว คือจะ improvise ไปตามสถานการณ์ที่ไปพบเพื่อที่จะเชื่อมดนตรีเข้ากับผู้ป่วยหรือญาติที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล แล้วก็จะจากไปอย่างเงียบๆ แม้ดนตรีจะเล่นอยู่แค่ช่วงสั้นๆ แต่บรรยากาศในวอร์ดหลังดนตรีจบลงจะเปลี่ยนไปจากก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง ผู้เขียน Leonardo Menegola เสนอว่า ดนตรีกล่อมบำบัดนี้ หัวใจไม่ได้อยู่ที่การแสดง แต่อยู่ที่การเข้าไปรับฟังหรือ “Listening” เพื่อที่จะ tune ดนตรีเข้าไปในชีวิตของผู้คน ผู้คนรู้สึกดีกับดนตรีเพราะรู้สึกว่ามีคนรับฟังอารมณ์ความรู้สึกของเขา แม้ผู้ป่วยหรือญาติเหล่านั้นจะไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

เรื่องที่ 7 เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ชื่อ Creating the circumstances of care together: interactions in the network of palliative care โดย Junko Iida จาก Kawasaki University of Medical Welfare Junko Iida เป็นนักวิจัยที่ผมรู้จักมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เธอทำวิจัยหลายชิ้นในประเทศไทยเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้านที่เชียงใหม่และเคยมานำเสนอผลงานวิชาการในการประชุมประจำปีที่สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพจัดขึ้น ในบทความนี้เธอเขียนเรื่องการดูแลในวอร์ดผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยนำแนวคิดเรื่อง Presence และเรื่อง Being-there กับ Being-with โดยวิเคราะห์บทบาทของนักกายภาพบำบัดควบคู่ไปกับอาสาสมัครที่ทำให้เกิดกระบวนการเยียวยาผ่าน Sense ต่างๆ ทั้ง listening, attending, communicating และ touch

เรื่องที่ 8 “Karaoke-do: Singing and Healing among the Elderly Japanese in Malaysia,” นำเสนอโดย Shiori Shakuto-Neoh นักวิจัยจาก Australian National University ศึกษาประสบการณ์ของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่ย้ายรกรากไปอยู่ในชุมชนผู้สูงอายุที่จัดตั้งขึ้นในฟิลิปปินส์ ผู้สูงอายุเหล่านี้ชอบร้องคาราโอเกะ นักวิจัยพบว่าผู้สูงอายุฟื้นฟูชีวิตของตนและความสัมพันธ์ของสามีภรรยาผ่านการร้องคาราโอเกะ ทั้งคาราโอเกะยังทำให้เลือดลมและเส้นสายในเนื้อในตัวแล่นได้ดีอีกด้วย ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการวิเคราะห์นี้เท่าไร ผมคิดว่าประเด็นน่าจะอยู่ที่ Sense of place คือ การย้ายไปสู่ที่ใหม่นั้นมันทำให้เกิดความตื่นตัว ความสดของประสบการณ์ และเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ทำให้ชีวิตตัดจากโหมดซ้ำซากจำเจมาสู่โหมดเรียนรู้ความแปลกใหม่แบบไม่ตัดสินผิดถูกมากเกินไป แค่นี้ชีวิตก็ดีขึ้นก่อนที่จะไปร้องคาราโอเกะซะอีก

เรื่องที่ 9 Denise Lombardi นักวิจัยจาก EPHE Paris- Università Milano Bicocca เรื่อง Ritual Embodiment and Crises in Neo-shamanism: A Converging System เป็นการศึกษาขบวนการแม่มดคนทรงใหม่ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลผลิตจากการปะทะระหว่างระบบความคิดแบบเก่าในบริบทของโลกประสบการณ์แบบใหม่ที่คนทรงเหล่านี้เดินทางผ่านไปในพื้นที่ที่หลากหลาย พิธีกรรมที่เคยอาศัยวัตถุสิ่งของเฉพาะถิ่นเปลี่ยนแปลงไป ความรู้อันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากภวังค์กลายเป็นตัวหนังสือและการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ความศักดิ์สิทธิ์ถูกสร้างขึ้นโดยการเขียนเรื่องราวบอกเล่าผ่านสื่อสมัยใหม่ บทความนี้ดึงเรื่องราวหลากหลายมาร้อยให้เห็นโลกของแม่มดคนทรงที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

          การวิพากษ์งานและให้ข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้นักวิจัยได้เห็นมิติทางทฤษฏี โดยเฉพาะในการประยุกต์ใช้ทฤษฎีด้านปรากฏการณ์วิทยาเพื่อผสมผสานกับมานุษยวิทยา รวมทั้งได้แนวทางการปรับปรุงงานทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี โดยบทความเหล่านี้จะมีการรวบรวมและหาทางจัดพิมพ์รวมเล่มต่อไป



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน