รถเข็น (0 ชิ้น)
 
สุขศาลา "งานบันดาลใจ"

เขียนโดย suksala
พฤหัส 22 ตุลาคม 2558 @ 03:47


การเริ่มต้นศักราชใหม่เป็นโอกาสของการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ๆ สุขศาลาฉบับที่ 23 ปรับโฉมใหม่ ทั้งรูปเล่มและเนื้อหา พร้อมๆ กับการเปิดภารกิจใหม่ภายใต้ชื่อ “งานบันดาลใจ” 
ความจริงจะเรียกว่า ภารกิจใหม่ ไปเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะที่ผ่านมา...
 
       นิตยสารสุขศาลาได้นำเสนอเนื้อหาที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงานสุขภาพมาตั้งแต่ต้น เพราะตระหนักมาตลอดว่า การทำงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิต สุขภาพ ความเจ็บป่วยและความเป็นความตายของคนนั้น เหตุผลและตัวเลขทางสถิตินั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เราทุ่มเททำงานด้วยความใส่ใจได้
       แรงบันดาลใจมีส่วนสำคัญที่ทำให้เราทำงานอย่างไม่เห็นแก่ความสะดวกสบาย และในหลายกรณี เรายังต้องทำงานเกินกว่าหน้าที่รับผิดชอบตาม “Job description” และอัตราเงินเดือนค่าจ้างของเรา แต่เพราะเรามีแรงบันดาลใจ ภาระงานที่ท่วมท้นจึงกลายเป็นความท้าทายที่ทำให้เราทุ่มเททำไปอย่างไม่คิดว่ามันคุ้มค่าหรือไม่
       ในปีใหม่นี้ ภารกิจที่เราเคยทำมาอย่างต่อเนื่องจะถูกยกระดับให้เข้มข้นขึ้น เป็นการขับเคลื่อนที่มุ่งไปที่ “จิตวิญญาณของการทำงาน” และ “การยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์”
       โครงการใหม่นี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการสร้างสุขภาวะในระบบบริการสุขภาพ ด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Promoting Humanity and Spiritual Well-being in Healthcare” เป็นโครงการที่ได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเป็นโครงการความร่วมมือกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.  ซึ่งเป็นความต่อเนื่องจากโครงการ SHA หรือ Spiritual HA ที่ทาง สรพ. ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ และยังเป็นความร่วมมือกับโครงการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System) ที่กำลังขับเคลื่อนอย่างคึกคักในขณะนี้
       โครงการที่มีชื่อยาวๆ และจำยากๆ ดังกล่าวจะมีการขับเคลื่อนผ่านแนวคิดที่งดงามและจดจำได้ง่ายๆ คือ “งานบันดาลใจ”
       แนวคิดเรื่องงานบันดาลใจนี้ ถือว่าการเติบโตทางจิตวิญญาณนั้น แท้จริงคือการงอกงามของความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ที่ว่านี้งอกงามได้จากการที่มนุษย์ได้ทำงานที่มีคุณค่าและมีความหมาย และเป็นงานที่ทำด้วยความทุ่มเทและใส่ใจ
       คือเป็นแนวคิดที่เห็นว่าการเติบโตทางจิตวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแยกไม่ออกจากชีวิตการทำงาน 
       ไม่ใช่มองเห็นว่าการทำงานเป็นอุปสรรคของการเติบโตทางจิตวิญญาณ
       ที่เห็นว่าการทำงานเป็นวิถีแห่งการเติบโตทางจิตวิญญาณก็เพราะงานเป็นทั้งเครื่องขัดเกลามนุษย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เติบโตเต็มศักยภาพของตน งานหล่อเลี้ยงบำรุง “ความเป็นมนุษย์” ให้เติบโตงอกงาม
       งานที่บันดาลให้ความเป็นมนุษย์ผลิดอกและงอกงามได้นี้ เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “งานบันดาลใจ”
       ที่ผ่านมา เรื่องจิตวิญญาณไม่เพียงแต่ถูกทำให้แยกออกจากการทำงานในชีวิตประจำวัน แต่ยังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องนามธรรมที่ซับซ้อน การหันกลับมาหา “งาน” ที่ “บันดาลใจ” จึงอาจเป็นหนทางที่จะทำให้การสร้างเสริม “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” ที่เป็นรูปธรรม ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ
       และหากมีการศึกษาวิจัย รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์ขององค์กรที่ประสบความสำเร็จก็อาจทำให้เราสามารถสร้างองค์ความรู้อันเป็นรากฐานสำหรับการสร้างสรรค์วัฒนธรรมในการทำงานในองค์กรที่เกื้อกูลต่อการพัฒนามิติทางจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์
       หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเรื่อง “งานบันดาลใจ” ก็คือสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มิติทางจิตวิญญาณของการทำงานให้กว้างขวางขึ้น เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ได้แยกออกจากพื้นที่ปฏิบัติการ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ 
       การสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่หล่อเลี้ยงให้ความเป็นมนุษย์เติบโตงอกงามไปกับการทุ่มเททำงานตามอุดมคติ
       แม้ภารกิจที่ว่านี้จะเป็นภารกิจระยะยาวของการวางรากฐานการทำงานสุขภาพ แต่ก็มีความสำคัญที่จะต้องเริ่มลงมือทำในวันนี้ เพราะวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน
       ชั่วประเดี๋ยวเดียว เดือนแรกของปีใหม่ก็หมดลงไปแล้ว
       หวังว่าวันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละเดือน เราทุกคนจะได้ทำงานที่มีคุณค่า มีความหมาย และเป็น “งานบันดาลใจ” ที่หล่อเลี้ยงให้เราได้เรียนรู้ งอกงาม และเติบโตทางจิตวิญญาณ 
       และเป็นวิถีไปสู่การยกระดับความเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์และไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะร่วมกัน
 

ที่มา : โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2558). บทบรรณาธิการ. นิตยสารสุขศาลา ปีที่ 6 ฉบับที่ 23 (หน้า 3-4). นนทบุรี: สำนักพิมพ์สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ.



หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน