รถเข็น (0 ชิ้น)
 
จากโอกาส สู่โอกาส… กับพยาบาลไร้หมวก

เขียนโดย suksala
จันทร์ 26 ตุลาคม 2558 @ 09:44


ขอบคุณโอกาสที่ให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วได้เกิดมามีอาชีพ “พยาบาล”
17 ปีกับการเป็นพยาบาลอยู่ห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด ห้องผ่าตัด ตึกผู้ป่วยใน
 

พยาบาลไร้หมวกจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าผู้อำนวยการโรงพยาบาลภาชีไม่ให้โอกาส ขอบคุณที่ท่านยื่นโอกาสให้ตั้งแต่ปี 2543 การทำงานเยี่ยมบ้าน แบบมวยวัด คือฉันเองต้องรู้พื้นที่ทั้งหมด 8 ตำบล 72 หมู่บ้าน ออกเยี่ยมบ้านทุกวันประสานงานน้องๆ ที่อยู่อนามัย ออกไปทำงานร่วมกัน ช่วยกันแก้ปัญหา ถ้าเจอเคสยากก็ใช้วิธีโทรศัพท์ถาม ถ่ายรูปไว้ กลับไปลงรายละเอียดในโอพีดีการ์ด คุยกับแพทย์ เภสัชบ้าง เมื่อถามบ่อยเข้าจนเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอยากรู้ว่าเราไปทำอะไรนอกโรงพยาบาลทุกวัน 

นอกจากการนำเรื่องราวดีๆ ของผู้ป่วยทุกข์ยากพิการที่ไปดูแล บอกให้เจ้าหน้าที่แต่ละจุดฟังเกือบทุกวัน ทำให้เกิดความสงสัยแล้ว เราต้องเขียนโครงการให้เจ้าหน้าที่ได้ลงไปสัมผัสชุมชน 1 คน 1 ครั้ง/ปี บางคนหมดโครงการขอลงไปติดตามดูแลผู้ป่วยเพิ่ม ข้อสำคัญการที่เจ้าหน้าที่แต่ละจุด เมื่อลงไปสัมผัสชุมชนได้พบคนไข้ที่อยู่ไกลและลำบาก มีข้อจำกัดในการมารักษาต่อที่โรงพยาบาล เกิดความเห็นอกเห็นใจคนไข้มากขึ้น เกิดเรื่องราวดีๆ แลกเปลี่ยนกันในหน่วยงาน

เมื่อเจ้าหน้าที่บนโรงพยาบาลเข้าใจงานเยี่ยมบ้าน และเจ้าหน้าที่อนามัยดีใจที่มีทีมโรงพยาบาลลงไปช่วยเหลือดูแลคนไข้เยี่ยมบ้านโดยนำทีมสหวิชาชีพไปช่วยดูแลเกิดการเยี่ยมคนไข้จนอาการดีขึ้น จากที่เคยนอนติดเตียงมานั่งได้ จากเดินไม่ได้ก็เริ่มฝึกเดินได้ จากนักกายภาพลงไปกระตุ้นและสอนญาติอย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางงานที่ยากลำบาก และท้าทาย บางครั้งรถเก่าๆ ที่นำเราไปเยี่ยมบ้านเสียต้องช่วยกันเข็น แต่ทีมเราก็ยิ้มได้ทุกครั้ง เพราะทำแล้วมันมีความสุขนะที่เห็นคนไข้แต่ละคนมีชีวิตที่ดีขึ้น

การวางแผนล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการวางระบบพร้อมมีปฏิทินการทำงาน ลงการดานไว้ เมื่อทำงานไปย้อนกลับมาดูผลและการเกิดโรคที่เพิ่มขึ้นจะพบจริงๆ เลยว่าโรคหลอดเลือดในสมองมาเป็นอันดับ 1 ส่วนโรคมะเร็งจากอันดับ 10 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 แต่ก็เป็นอันดับ 1 ของการเสียชีวิต

เมื่อนำผลการทำงานให้ผู้บังคับบัญชาดูว่า การฟื้นฟูภายใน 6 เดือน เป็นสิ่งสำคัญและช่วยให้ผู้ป่วย Stroke มีโอกาสที่จะกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เองไม่เป็นภาระของครอบครัวหลายคน โรงพยาบาลจึงรับนักกายภาพเพิ่ม ทำให้หลายชีวิตที่นักกายภาพเยี่ยมแล้วดีขึ้น

ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ที่มารักษาที่โรงพยาบาลชุมชนนั้นจะเป็นระยะสุดท้าย ตัวฉันเองได้หาความรู้เรื่องโรคมะเร็งเพิ่มตั้งแต่ปี 2545-2547 โดยมีการประชุมทุกเดือนในวันเสาร์-อาทิตย์ ฉันจึงหาโอกาสไปนั่งฟังแพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ที่กำลังผลักดันการดูแลผู้ป่วยมะเร็งกัน เพื่อจะมีความรู้เรื่องมะเร็งเมื่ออยู่บ้านและได้นำมาประกอบกับการเยี่ยมบ้าน เตรียมผู้ป่วยบนโรงพยาบาล 

การให้เวลาผู้ป่วยกับญาติได้พูดคุยเล่าเรื่องราวชีวิตให้ฟังจนหาคุณค่าในตัวผู้ป่วยกับญาติได้ หาสิ่งที่ขาดหายในชีวิตจนมีโอกาสเติมเต็มก่อนจากไป หลายชีวิตที่ทำไม่เหมือนกันเลย เพราะชีวิตได้ผ่านเรื่องราวที่ต่างกัน ทำให้รู้ว่าส่วนใหญ่แล้วเมื่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายรู้ตัวว่าหมดทางรักษาแล้ว ก็อยากจะกลับไปเสียชีวิตที่บ้านมากกว่าการนอนรออยู่บนโรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของโครงการ “อยู่อย่างสงบ จบชีวิตที่บ้าน” โดยหลังจากได้พูดคุยเตรียมความพร้อมจัดหาอุปกรณ์ไปใช้ต่อที่บ้าน เช่น ออกซิเจน ที่นอนลม เตียงผู้ป่วย มีทีมลงไปดูแล และการที่ชีวิตเขามาผ่านชีวิตเราถือว่าเราได้มีโอกาสได้ช่วย ได้ทำ ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิต แต่อย่างน้อยเขาก็ได้จากไปอย่างสงบ

เมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานยังเท่าเดิมหรือบางแห่งก็ลดลง ทำให้เกิดการหาตัวช่วยขึ้น โดยมีการนำร่องเรื่องการสร้างจิตอาสามาจากนายก อบต.ดอนหญ้านาง เริ่มทำ 10 คน โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ และเจ้าหน้าที่อนามัยเป็นพี่เลี้ยงต่อในการช่วยงานบริการอนามัยและออกเยี่ยมบ้าน หลังจากนั้นก็ทำจนครบ 8 ตำบล รวมมีจิตอาสา 47 คน ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้รับมอบหมายให้มาเป็นพี่เลี้ยงในภาคทฤษฎีและลงปฏิบัติ 

จากการที่มีเวลาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับจิตอาสา ทำให้ได้รับรู้ว่า “การสร้างคนที่มีใจทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” เพราะเราจะบอกเขาทุกครั้งที่มีโอกาสไปเยี่ยมคนไข้ ช่วยเหลือคนทุกข์ยาก พิการ เป็นบุญของเราที่เขาให้โอกาสเราได้ทำงานที่ยากลำบากมาก บารมีสั่งสมก็มากขึ้นด้วย จิตอาสาที่ได้ทำงานต่างก็มีความสุขใจ เช่นจิตอาสาคนหนึ่งที่บอกเล่าความรู้สึกว่า “หนูรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นทีมเดียวกับคุณหมอบนโรงพยาบาลและทีมเดียวกับหมออนามัย” แต่สิ่งสำคัญคือ การที่จิตอาสาได้กลับไปเปลี่ยนแปลงครอบครัวตัวเอง บางคนสามีอาสาขับรถพาไปเยี่ยมบ้าน บางคนนำหลานไปช่วยจดบันทึก

ไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ภัยพิบัติอะไร แค่โทรศัพท์คุยกันเราก็รวมตัวกันได้ “เมื่อทำงานแล้วบางครั้งการถอนออกจากทุกข์ของคนไข้มันยากจังนะหมอ” จิตอาสาถาม ฉันจึงเริ่มสอนการเตรียมตัวให้จิตอาสาเรียนรู้จากเรื่องเล่าเคสผู้ป่วยมะเร็งที่เสียชีวิตไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ล้วนแล้วก็มีวันที่ต้องเตรียมตัวก่อนตายเช่นกัน แล้วให้ทุกคนฝึก ซึ่งพลังจากสิ่งที่ทำมันเป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป โดยบอกว่า “ถ้าทุกคนรู้ว่าเวลาของเราเหลือน้อย... ก็จะเลือกทำแต่สิ่งดีๆ ถูกต้อง...” จึงเป็นที่มาของการสอนจิตอาสาเรื่องการเตรียมตัวก่อนตายทุกคน

เมื่อมีบุคคลภายนอกสนใจว่างานเยี่ยมบ้านทำให้คนทำมีความสุขอย่างไร จึงเปิดโอกาสให้ อาชีพอื่นๆ ได้มาเยี่ยมผู้ป่วยผู้พิการได้ และมีส่วนช่วย ซื้อไข่ ข้าว นม และรถเข็นไปมอบให้ผู้ป่วยด้วยตัวเองในวันเสาร์-อาทิตย์

คนที่มาบอกกับทีมว่าการที่เขามีโอกาสมาเห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานเพื่อคนที่ขาดโอกาสทำให้เขามีกำลังใจขึ้นมาก ตอนแรกคิดว่าตัวเองแย่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับคนป่วย คนพิการ ที่พยายามช่วยเหลือตัวเองแล้ว  รู้สึกได้เลยว่าตัวเขาเองดีกว่าผู้ป่วย ผู้พิการอย่างมาก การที่นำของมาให้คนไข้มันกลายเป็นว่าพวกเราได้มากกว่า ได้กำลังใจกลับไปทำงานที่ทำอยู่แล้วให้ดีขึ้น

บางคนขอมอบรถเยี่ยมบ้านให้ใช้ในการออกชุมชน ธนาคารแห่งหนึ่งเชิญไปบรรยายการทำงานให้ฟัง 8 ครั้ง เพื่อแลกกับที่นอนลม 40 ตัว รถเข็น 20 คัน ได้แบ่งของไปให้ โรงพยาบาลอำเภอใกล้เคียง ซึ่งผู้ป่วยทั้งในและนอกโรงพยาบาลได้มีโอกาสใช้ประโยชน์ 
เมื่อโรงพยาบาลต่างๆ พากันมาดูงานหลังจากนั้นก็เริ่มมีจังหวัดต่างๆ เชิญไปบรรยายเรื่องการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลจังหวัดได้ฟัง เดือนละ 2 ครั้ง จึงเป็นที่มาของรางวัล มิตรภาพบำบัด ปี 2551 และรางวัลเพชรกาสะลอง (พยาบาลชุมชนดีเด่น) 2551 

การได้รับรางวัลต่างๆ ทำให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ วิทยาลัยพยาบาลต่างๆ ก็อยากให้ไปสอนนักศึกษาพยาบาล เพื่อให้เห็นคุณค่าของวิชาชีพพยาบาลในหลายจังหวัด จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ไปหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ก็จะรับนักศึกษาทุกคนเป็นลูก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากมีลูกสาว โดยหลังจากบรรยายเสร็จและได้ฟังเรื่องราวความลำบากในการเข้ามาเรียนพยาบาลโดยเฉพาะคนที่ไม่มีแม่ จึงตัดสินใจสนับสนุนค่าเล่าเรียนรายเดือนนักศึกษาพยาบาล 1 คน จนจบการศึกษา 4 ปี และคิดว่าจะรับลูกสาวคนที่ 2 ต่อไป

เมื่อผ่านการเรียนรู้ชีวิตของผู้ป่วยที่ส่วนมากจะเครียดเรื่องเศรษฐกิจ จึงมีแนวคิดว่า ถ้าผู้ป่วยพึ่งตัวเองได้ มีอาชีพ จะทำให้โรคที่เป็นเบาบางลง เพราะความเครียดลดลง จึงเข้าไปมีส่วนร่วมกับโรงเรียน 20 โรงเรียนนำร่องเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการ “โอสถสภา เพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า” เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ 

เหตุการณ์สำคัญในช่วงชีวิตที่ไม่อยากพบ คือเมื่อครั้งที่พยาบาลรุ่นพี่ที่ฉันรัก ป่วยเป็นมะเร็งปอดและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งที่ฉันทำได้ตอนนั้นคือ ไปเลือกโลงศพสีขาวให้พี่ โดยปีต่อมา เพื่อนรักของฉันก็ป่วยเป็นมะเร็งกล้ามเนื้อ ฉันได้มีโอกาสดูแลเพื่อน รับฟังเพื่อนทุกวันก่อนฉันไปเยี่ยมบ้าน นั่นทำให้ฉันเข้าใจว่า ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งนั้น ยิ่งรู้มากก็ยิ่งทุกข์มาก ไม่มีใครพร้อมตาย 

ฉันเริ่มฝึกทำพินัยกรรมชีวิตเป็นก็ตอนดูแลเพื่อน ฝึกการฟังอย่างตั้งใจเป็นก็เพราะเพื่อนคนนี้ นอกจากหูฟังเสียงแล้ว ใจฉันก็จดจ่อรอฟังไปด้วย เพื่อนบอกเวลามีทุกข์ถ้ามีใครอยู่ข้างๆ รับฟังทุกอย่าง ความทุกข์ก็ลดลงไป 50 เปอร์เซ็นต์ “ถึงจะรู้ว่าไม่มีโอกาสรอดชีวิต ก็ยังอยากจะได้กำลังใจ” สัมผัสจากคนที่รักทุกวัน 1 เดือน กับการนำธรรมมาเยียวยา ทุกอย่างถูกวางแผนไว้ด้วยตัวผู้ป่วยเอง เพื่อนก็เลือกที่จะไปอย่างสงบมีสติ ไม่ขอรับยาแก้ปวด หายใจช้าลงมีเพื่อนๆ และลูกชายอยู่รอบเตียง แล้วเพื่อนก็ค่อยๆ หยุดหายใจ ไปอย่างสงบ...

ฉันได้มีโอกาสย้ายมาทำงานใกล้บ้าน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และได้รับรางวัลเพิ่มอีก 2 ปี กับ 2 รางวัล คือ ข้าราชการต้นแบบ และ คนดีของแผ่นดิน ซึ่งเป็นรูปพญายมราช ปีแรกสีขาว ปีที่สองสีทองแดง กับคาถาพยายม เป็นการตอกย้ำความรับผิดชอบที่ต้องเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากขึ้นทุกวัน 

กัลยาณมิตรที่เป็นพยาบาลด้วยกันหลายคนซึ่งอยู่ต่างจังหวัด ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ต้องการพบและต้องการกำลังใจ สามีที่ใจดีก็จะขับรถพาไปทุกครั้ง รวมทั้งหลายชีวิตที่จากไป หลายชีวิตที่เข้ามาใหม่ทำให้ฉันพบทางออกว่า เราต้องสร้างเครือข่าย เริ่มจากคนใกล้ตัว คือ พยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งฉันย้ายมาอยู่ได้ 3 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 12 แห่ง จิตอาสา 59 คน โดยสอนทฤษฎีแล้วลงมือปฏิบัติจริง นอกจากมะเร็งระยะสุดท้าย ยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ไตวายที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมและได้ลงไปเยี่ยมบ้านด้วยกัน ฉันอาศัยการเดินไปสวัสดีพี่ๆ ที่จุดทุกเช้าในการประสานงาน เล่าเรื่องราวดีๆ ที่คนไข้ชมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้พยาบาลฟัง บางทีก็นำกระดาษที่เขาเขียนขอบคุณเจ้าหน้าที่ไปให้หัวหน้างาน

รางวัลแทนคุณแผ่นดินปี 2556 ทำให้การเดินทางขยายเครือข่ายคนทำดีเพิ่มขึ้น ด้วยการไปบรรยายให้เจ้าหน้าที่มีใจอยากทำงานเยี่ยมบ้าน อยากดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แล้วสร้างระบบการดูแลให้ต่อเนื่องมากขึ้น เพราะทุกครั้งที่ไปบรรยายได้มีการสร้างมิตรภาพบำบัดให้เกิดขึ้นทุกที่ และเกิดงานเยี่ยมบ้านที่เป็นระบบขึ้นในโรงพยาบาลที่ไป

“การสร้างคนให้มีใจเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เพราะคนที่ถูกสร้าง จะไปสร้างคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ มือที่ให้กับมือที่รับมันต่างกันมากๆ”
ความสำเร็จที่ผ่านมา เกิดจากการลงมือทำ ขยันเล่า แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ของผู้ป่วย ของเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่อายที่ไม่รู้ แสวงหาความรู้ หรือคนที่สามารถจะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยดีขึ้น ทำงานเป็นทีม เป็นเครือข่าย การทำเพื่อคนอื่น จะไม่เครียดและไม่ท้อ (เพราะคิดที่จะทำเพื่อผู้อื่น)

 
ที่มา : เพ็ญลักขณา ขำเลิศ. (2558). จัดการความ (ไม่) รู้

นิตยสารสุขศาลา ปีที่ 6 ฉบับที่ 23 (หน้า 28-31). นนทบุรี: สำนักพิมพ์สุขศาลา สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ. 



หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน