รถเข็น (0 ชิ้น)
 
ระบบความรู้และการจัดการเรียนรู้

เขียนโดย admin
อังคาร 04 เมษายน 2549 @ 17:00


การจัดการการเรียนรู้และการจัดการความรู้ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

หากเรามองย้อนไปในอดีตหรือพิจารณาระบบความรู้ในวัฒนธรรมต่าง ๆ ก็จะพบเห็นร่องรอยของความพยายามที่มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยพยายามสร้างกระบวนการเพื่อการเข้าถึง การแบ่งปัน หรือเพื่อการถ่ายทอดความรู้ในหมู่คณะหรือกลุ่มคนในสังคม

การเกิดขึ้นของภาษากาย ภาษาพูด และภาษาเขียน การแสดงสีหน้าหรือท่าทาง ตลอดจนการเล่านิทาน การร้องเพลง การสวดมนต์ และพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อการจดจำและสืบทอดความรู้หรือเรื่องราวในสังคมมิให้หลงลืมไป (Connerton 1989)

นอกจากนั้นการรวมกลุ่มกันทำงาน การแบ่งงานหรือหน้าที่ทางสังคมจนทำให้เกิดเป็นบุคคลที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น หมอ หรือช่างฝีมือประเภทต่าง ๆ

ก็อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ได้เช่นเดียวกัน

การแพทย์พื้นบ้านเป็นตัวอย่างที่ดีของระบบความรู้พื้นบ้านที่มีกระบวนการจัดการความรู้อันเป็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากระบบความรู้สมัยใหม่ ระบบความรู้พื้นบ้านนั้นถือว่า ความรู้เป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากคุณธรรม

จึงมักมีข้อห้ามมิให้นำความรู้ไปใช้เพื่อการแสวงหากำไร ความรู้ยังมีลักษณะเป็นของส่วนรวมที่ไม่ใช่ใครจะนำไปจดสิทธิบัตรเป็นของส่วนตัวได้

การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้านก็เป็นระบบที่ต่างออกไปจากระบบสมัยใหม่ โดยระบบการแพทย์พื้นบ้านเน้นการเรียนรู้ระหว่างครูกับศิษย์ที่มีมิติทางจริยธรรม การถ่ายทอดวิชาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเชื่อมั่นว่าผู้เป็นศิษย์จะสามารถรักษาคุณธรรมของวิชาชีพได้

เรียกว่า ในระบบความรู้พื้นบ้านนั้น วิชาความรู้ถือว่ามีได้ทั้งคุณและโทษ

ครูหมอจึงยอมให้วิชาหายสาบสูญหรือหมดไปกับชีวิตของตนเสียมากกว่าที่จะยอมให้ตกไปเป็นของคนเลว คนชั่ว หรือคนเห็นแก่ตัว

ความรู้และทักษะด้านศิลปะโดยเฉพาะงานหัตถกรรมพื้นบ้านก็มีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างออกไปจากระบบการศึกษาสมัยใหม่

ในหนังสือชื่อ Learning from Likely Places: Varieties of Apprenticeship in Japan (Singleton, ed. 1998) มีบทความของ ดีค็อกเกอร์ (DeCoker) ที่เขียนถึงระบบการเรียนรู้ทักษะศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่น ซึ่งมีกระบวนการที่แตกต่างออกไปจากการเรียนในระบบโรงเรียนสมัยใหม่

ดีค็อกเกอร์ได้สรุปหลักการเรียนรู้ในระบบดั้งเดิมของการถ่ายทอดทักษะศิลปะพื้นบ้านที่เป็นลักษณะเฉพาะได้ 7 ประการ คือ

1. การเน้นให้ผู้เรียนทำงานหนักโดยเริ่มด้วยการคัดลอกงานศิลปะชิ้นเอก โดยให้ทำตามแบบอย่างเคร่งครัดเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานให้แม่นยำ โดยไม่เน้นการคิดประดิษฐ์ประดอย หรือการคิดสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ โดยไม่มีทักษะพื้นฐานเสียก่อน

2. การเน้นวินัยการฝึกฝนที่เคร่งครัด โดยให้ทำงานหนักเพื่อสร้างเจตน์จำนงค์และความวิริยะ ให้ศิษย์มีความอดทนอย่างสูงต่อความยากลำบากในการทำงาน

3. การมีระบบความสัมพันธ์และวิถีการปฏิบัติที่ชัดเจนระหว่างศิษย์กับอาจารย์ โดยเน้นความสัมพันธ์แบบมีช่วงชั้นของระบบอาวุโสและการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือต่อครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด

4. การมีลำดับชั้นของทักษะจากทักษะเบื้องต้นค่อย ๆ ขยับไปสู่ทักษะชั้นสูง โดยมีการเลื่อนตำแหน่งไปตามลำดับชั้น ศิษย์ที่ก้าวหน้าไปในระดับที่สูงจะมีสถานะภาพ สิทธิ และการเข้าถึงซึ่งความลับหรือเคล็ดวิชาชั้นสูงมากขึ้นตามลำดับ

5. การอาศัยระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่มีกฎเกณฑ์ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่ชัดเจน

6. การอาศัยการสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์ การสื่อสารระหว่างศิษย์กับครูเป็นการสื่อสารที่ต้องอาศัยการตรึกตรองตีความมากกว่าการสื่อสารแบบทื่อ ๆ ตรงไปตรงมา

7. การมีเป้าหมายทางจิตวิญญาณเป็นเป้าหมายสูงสุด การทำงานมิได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อการหาเลี้ยงชีพ แต่การเรียนรู้ทักษะศิลป์และการทำงานศิลป์นั้นเป็นไปเพื่อการบรรลุภาวะสูงสุดในทางจิตวิญญาณ โดยถือว่าการทำงานเป็นการฝึกฝนขัดเกลาตัวตนของผู้เรียน (DeCoker 1998)

อาจเห็นได้ไม่ยากว่า ระบบความรู้และการเรียนรู้ที่แตกต่างกันย่อมสร้างความรู้และบ่มเพาะผู้เรียนให้มีวิธีมอง วิธีคิด และวิธีทำที่แตกต่างกัน ซึ่งก็สัมพันธ์ไปกับระบบการผลิตหรือระบบเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก

ความรู้และทักษะที่เน้นจินตนาการ ความเป็นลักษณะเฉพาะตนและการสร้างสรรค์ชั้นสูง ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นจากระบบความรู้ที่เน้นมาตรฐานเดียว และระบบการผลิตแบบโหล ๆ ดังที่เป็นอยู่ในสังคมบริโภคนิยมที่ฉาบฉวยได้
---------------------------------
ส่วนหนึ่งของบทความ พลิกวิธีคิดการจัดการความรู้ ดาวน์โหลดได้จากหน้า download


หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน