รถเข็น (0 ชิ้น)
 
มิติวัฒนธรรมของอาหารการกิน กับจริยธรรมของการบริโภค

เขียนโดย admin
ศุกร์ 24 มีนาคม 2549 @ 17:00


ที่สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพที่ผมทำงานอยู่ เรามีการเสวนาทางวิชาการเป็นประจำทุกบ่ายวันศุกร์ติดต่อกันมาได้หลายปีแล้ว

เมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อน เราคุยกันเรื่องมานุษยวิทยากับมิติทางสังคมวัฒนธรรมของอาหารการกิน ทำให้ได้แง่คิดหลายประการที่อยากเล่าสู่กันฟัง

ประการเบื้องต้นที่สุดซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับอาหารก็คือ อาหารการกินในวัฒนธรรมต่าง ๆ ไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดได้เท่านั้น หรือพูดอีกอย่าง มนุษย์นั้นแตกต่างจากสัตว์ก็ตรงที่เราไม่ได้ “กินเพื่ออยู่” อย่างเดียว

แต่ของที่มนุษย์สรรหามากินนั้นยังมีความหมายหรือนัยสำคัญทางสังคมด้วย

เป็ดปักกิ่งกับข้าวราดแกงข้างถนน อาจมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ต่างกัน แต่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ต่างกัน เพราะอันหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาหารชั้นสูงสำหรับฮ่องเต้และฮองเฮา อีกอันเป็นอาหารบ้าน ๆ สำหรับคนห้องเช่าและชาวห้องแถว หรือไก่ทอดบังแอที่ตลาดอาจอร่อยกว่าไก่ทอดเคเอฟซี แต่ศักดิ์ศรีและความเท่ห์ย่อมไม่เท่ากัน

อาหารจึงไม่ใช่มีแค่คุณค่าเชิงโภชนาการ แต่มีคุณค่าทางสังคมกำกับอยู่ด้วย หรือจะว่าอาหารนั้นมีความเป็นชนชั้นกำกับอยู่ก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้น อาหารยังเป็นเครื่องบ่งบอกและแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมอีกด้วย คือไม่ใช่แค่ว่า ชนชั้นแรงงานนิยมอาหารหนัก ๆ เพื่อให้อยู่ท้องและทำงานได้เท่านั้น แต่อาหารหนักท้องเช่นข้าวแกงหรือข้าวเหนียวได้กลายเป็นสัญญะที่สะท้อนความเป็นชนชั้นแรงงานของผู้บริโภคอีกด้วย

รสนิยมของอาหารจึงกลายเป็นตราประทับทางชนชั้นที่แยกแยะและจัดวางตำแหน่งแห่งที่ในทางสังคมของมนุษย์ ถ้าริจะเป็นผู้ดีสมัยใหม่จึงต้องหัดกินสเต๊กแกล้มไวน์ ไม่ใช่ลาบวัวแกล้มเซี่ยงชุน

พูดง่าย ๆ ก็คือต้องแปล You are what you eat ว่า คุณกินอาหารชนชั้นไหนก็จะกลายเป็นชนชั้นนั้น

ประการต่อมา สิ่งที่ถือว่าเป็นอาหารหรือไม่ใช่อาหารนั้นแตกต่างกันไปในวัฒนธรรมต่างๆ ของบางอย่างแม้ว่าจะกินได้ (คือกินแล้วไม่ตาย) แต่ก็มีข้อห้ามทางวัฒนธรรมไม่ให้นำมาเป็นอาหาร ชาวฮินดูและชาวจีนที่นับถือเทพจะไม่กินเนื้อวัว ในขณะที่ชาวมุสลิมก็ไม่รับประทานหมู ฝรั่งไม่กินเนื้อม้า สำหรับคนไทยนั้นส่วนใหญ่ไม่กินแมว

ของที่เรากิน แต่คนอื่นไม่กิน เรามักไม่ว่าอะไร (หรืออาจว่าเขาว่าโง่ที่ไม่รู้จักกินของอร่อยอย่างเรา) เช่นเรากินเนื้อวัว แต่ชาวฮินดูไม่กิน ก็ไม่เป็นไร

แต่ของที่เราไม่กิน แต่คนอื่นกิน เรามักเดือดร้อน
เช่น เราไม่กินแมว แต่มีผู้บ่าว (หนุ่ม) อีสานจับแมวกิน เราก็รับไม่ได้

อาจเป็นเพราะลึก ๆ แล้ว มนุษย์รู้สึกผิดที่ต้องไปเบียดเบียนชีวิตสัตว์มาเป็นอาหาร ยิ่งถ้าเป็นสัตว์ที่เรารู้สึกใกล้ชิดคุ้นเคย เช่น หมา แมว นกแก้ว นกขุนทอง ปลาเงินปลาทอง เรามักไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอาหาร เรื่องจะฆ่าแกงมาเป็นอาหารก็ยิ่งไม่ควร

วัฒนธรรมต่าง ๆ จึงจัดหมวดหมู่ของสิ่งต่าง ๆ ให้บางอย่างเป็นสิ่งต้องห้าม และให้กินได้เฉพาะสิ่งที่อนุญาตเท่านั้นเพื่อความสบายใจและไม่รู้สึกผิดเกินไป ในทางพุทธศาสนาก็ถือว่าการฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาป และถ้าฆ่าสัตว์ที่มีบุญคุณ เช่น วัวควายที่เคยช่วยลากเกวียนหรือไถนา ก็จะถือว่ายิ่งบาปหนัก

อาจเป็นเพราะศาสดาต่าง ๆ ล้วนตระหนักดีว่า การบริโภคของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อสรรพชีวิตอื่น ๆ จึงมีการบัญญัติข้อห้ามต่าง ๆ ไว้กำกับการบริโภคของมนุษย์ จะเรียกว่าเป็น จริยธรรมของการบริโภคก็ได้ และก็เป็นเช่นเดียวกับหลักจริยธรรมอื่น ๆ การประพฤติปฎิบัติตามหลักจริยธรรมนี้ถือว่าเป็นการประพฤติพรหมจรรย์

การดำเนินชีวิตโดยมีจริยธรรมที่จะบริโภคหรือไม่บริโภคอะไรก็ถือว่าเป็นชีวิตพรหมจรรย์ด้วย

มาถึงยุคปัจจุบัน เป็นยุคการบริโภคไร้พรมแดน เรื่องอาหารการกินของมนุษย์จึงมีผลกระทบข้ามพ้นพรมแดน เรื่องจริยธรรมของการบริโภคกลายเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย


หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน