รถเข็น (0 ชิ้น)
 
การเรียนรู้และความรู้ในสังคมสมัยใหม่

เขียนโดย admin
เสาร์ 24 มิถุนายน 2549 @ 17:00


แนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายแนวทางการปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่า กระแสที่เกิดในแวดวงวิชาการด้านการบริหารจัดการนี้เป็นส่วนหนึ่งเป็นความพยายามที่จะก้าวให้พ้นจากกรอบจำกัดของวิธีคิดเดิมของการจัดการความรู้ที่อาจเรียกว่า “อุตสาหกรรมความรู้” (Knowledge industry)

ระบบอุตสาหกรรมความรู้สมัยใหม่นี้สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือเป็นระบบที่มีรากฐานวิธีคิดมาจากกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์เก่าซึ่งมองโลกแบบแยกส่วนและกลไก

ระบบอุตสาหกรรมความรู้ที่ว่านี้มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมทั้งระบบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ระบบการวิจัย รวมทั้งระบบการผลิต การกระจาย และการบริโภคความรู้ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม และโดยเหตุที่การเรียนรู้กับการจัดการความรู้ในองค์กรต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมความรู้

เราจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันถึงข้อจำกัดของระบบอุตสาหกรรมความรู้ไว้เป็นเบื้องต้น เป็นการรู้เท่าทันวิธีคิดก่อนที่จะสามารถพลิกให้พ้นไปจากข้อจำกัดของมัน เพื่อพัฒนาวิธีคิดการจัดการองค์กรไปสู่การเรียนรู้ในมิติทางจิตวิญญาณได้

ระบบอุตสาหกรรมความรู้นี้มีลักษณะเดียวกับที่ ธีออดอร์ อะดอร์โน (Theodor Adrono) นักคิดคนสำคัญของสกุลความคิดแบบแฟรงค์เฟิร์ท (Frankfurt school) อะดอร์โนได้วิเคราะห์ “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” (Cultural Industry) ไว้ว่าแบบแผนทางวัฒนธรรมในสังคมทุนนิยมนั้นถูกครอบงำกำหนดโดยระบบอุตสาหกรรม โดยที่ระบบอุตสาหกรรมจะเป็นผู้ผลิตค่านิยมผ่านสินค้าอุปโภคบริโภค และอาศัยการวิจัยทางการตลาดและการโฆษณาทางสื่อมวลชนสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ ดนตรี และหนังสือพิมพ์ ฯลฯ เพื่อให้การผลิตและการบริโภคสินค้าสำเร็จรูปในปริมาณมาก (Mass consumption) (Adorno 1990)

ภายใต้บริบทดังกล่าว วัฒนธรรมในสังคมสมัยใหม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ศิลปะและการแสดงออกทางวัฒนธรรมจึงถูกควบคุมจำกัดโดยระบบตลาด

ระบบความรู้หรือ Knowledge System ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมก็มีชะตากรรมไม่ต่างไปจากระบบวัฒนธรรม เพราะเป็นผลผลิตของกรอบวิธีคิดแบบอุตสาหกรรม
ระบบอุตสาหกรรมความรู้นี้มีลักษณะที่สำคัญได้แก่

1. ระบบการถ่ายทอดความรู้หรือระบบการศึกษาเน้นการสร้างผลผลิตที่มีลักษณะเหมือนกันเป็นจำนวนมาก (Mass Production) นักเรียนเข้าสู่ระบบโรงเรียนไม่ต่างจากวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานผ่านสายพานเข้าสู่การผลิตที่ใช้ “พ่อพิมพ์” หรือ “แม่พิมพ์” ของชาติปั๊มให้ได้นักเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน เป็นระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมโดยแท้

2. นอกจาก “คน” ซึ่งผลิตได้แบบอุตสาหกรรมแล้ว “ความรู้” ก็ต้องถูกทำให้เป็นของสำเร็จรูปที่สามารถบันทึก ถ่ายทอด จดจำ และทดสอบได้ด้วยเกณฑ์มาตรฐานเชิงปริมาณ ความรู้ที่เหมาะกับการจัดการในระบบอุตสาหกรรมต้องเป็นความรู้ที่มีผู้ผลิตเป็นจำนวนน้อยราย ผู้คนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้บริโภคความรู้สำเร็จรูปที่ไม่ต้องใช้สติปัญญาขบคิดหรือสังเคราะห์ เพียงให้สามารถเอาความรู้สำเร็จรูปไปใช้ได้เป็นพอ

ความรู้ที่ถูกผลิตและเป็นที่นิยมในการบริโภคจึงกลายเป็นความรู้แบบ “how to” ที่เน้นเทคนิควิธีการทำมากกว่าการเสริมสร้างสติปัญญาให้เกิดการรู้เท่าทัน หรือการสร้างฐานรากของความรู้ที่จะสามารถนำไปคิดให้งอกงามต่อได้ หรือเรียกว่า เป็นระบบที่เน้นการเรียนเรื่อง Know-how มากกว่า Know-why

3. การสนับสนุนการวิจัยในระบบอุสาหกรรมความรู้ปัจจุบันก็มีลักษณะของทุนนิยมอุตสาหกรรมเช่นกัน ระบบวิจัยที่เป็นอยู่ไม่ต่างไปจากระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่นอกจากจะเน้นงานวิจัยเพื่อผลได้ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเน้นงานวิจัยที่วางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้าได้ชัดเจน เพื่อให้สามารถควบคุมการผลิตได้เช่นเดียวกับการผลิตแบบอุตสาหกรรม และมุ่งหาคำตอบแบบตรงไปตรงมาที่ “เป็นวิทยาศาสตร์” และเป็นภาวะวิสัย (objective) คือมีตัวเลขยืนยันได้

งานที่ง่ายต่อการสนับสนุนในระบบวิธีคิดดังกล่าวก็คือ การวิจัยเชิงปริมาณที่มีกรอบและแนวทางการวิจัยที่แน่นอนตายตัว ส่วนงานการสร้างความรู้ด้านสังคมวัฒนธรรม ความเข้าใจทางศาสนาหรือปรัชญา ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในมิติทางจิตวิญญาณนั้นถูกละเลยไปโดยปริยาย เพราะที่ไม่สามารถทำให้เป็นตัวเลขหรือนำมาแสดงเป็นตารางและขั้นตอนเป็นข้อ ๆ เหมือนตำราอาหารได้

จะเห็นได้ว่า ระบบการจัดการความรู้ที่อิงแอบกับวิธีคิดแบบอุตสาหกรรมนี้เป็นระบบที่เอื้อให้ความรู้บางแบบเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่แทบจะไม่เหลือที่อยู่ที่ยืนให้กับความรู้ที่มีรากฐานวิธีคิดที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะความรู้ในมิติทางจิตวิญญาณ
การก้าวออกจากกรอบจำกัดของอุตสาหกรรมความรู้ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้ใหม่ๆ และการจัดการความรู้


หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน