รถเข็น (0 ชิ้น)
 
มิติทางจริยธรรมของการบริโภค

เขียนโดย admin
พุธ 03 พฤษภาคม 2549 @ 17:00


อี เอฟ ชูเมกเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำชาวอังกฤษเคยตั้งข้อสังเกตถึงการบริโภคในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมว่าขาดมิติทางจริยธรรม
เขาเคยยืนสังเกตที่บริเวณพรมแดนระหว่างเมืองสองเมืองและเห็นรถขนขนมปังที่ร้านขนมปังผลิตขึ้นขายในเมืองหนึ่งนำไปส่งขายในอีกเมือง ในขณะที่รถขนส่งจากอีกเมืองก็แล่นสวนทางขนขนมปังประเภทเดียวกันที่ผลิตจากเมืองนั้นข้ามมาขายที่อีกเมืองเช่นกัน
ที่เป็นเช่นนี้ แม้จะมีเหตุผลทางการตลาด แต่ก็เป็นระบบที่ใช้ต้นทุนจากสังคมและระบบนิเวศน์อย่างสิ้นเปลือง เพราะต้องขนส่งวัตถุดิบและผลผลิตผ่านระยะทางไกล
ชูเมกเกอร์ เสนอว่าระบบจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยลง ถ้าผู้คนผลิตและบริโภคอาหารท้องถิ่น คือเป็นระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กแต่งดงาม
และนี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องเล็กนั้นงดงาม หรือ Small is Beautiful ที่เลื่องชื่อของเขา
ในทำนองเดียวกัน นักรณรงค์เรื่องระบบอาหารเสนอว่า เราควรหันมาบริโภคโปรตีนจากธัญพืช แทนที่จะเน้นการดื่มนม เพราะหากเปรียบเทียบแล้ว ในการผลิตเพื่อให้ได้โปรตีนปริมาณเท่ากันนั้น การเลี้ยงโคนมจะต้องทำลายระบบนิเวศน์เช่นพื้นที่ป่ามากกว่าการปลูกถั่วเหลืองกว่าสิบเท่า
ถ้าคิดอย่างนี้ ที่รณรงค์กันให้ดื่มนมอาจต้องคิดกันใหม่
การเลือกอาหารการกินและแบบแผนการบริโภคจึงเกี่ยวข้องกับจริยธรรมในระบบนิเวศจนถึงกับมีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งในยุโรป ได้เสนอแนวคิดเรื่อง Ethical Living ซึ่งเน้นจริยธรรมในการเลือกบริโภคเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสังคมและระบบนิเวศน์
สมาชิกของกลุ่มเหล่านี้จะไม่บริโภคอาหารที่ต้องขนส่งมาจากระยะไกล ๆ โดยเฉพาะอาหารที่ต้องใช้เครื่องบินเป็นพาหนะขนส่ง
เพราะเครื่องบินไม่เพียงแต่สร้างมลพิษทั้งทางเสียงและทางอากาศ แต่ยังเป็นการขนส่งที่ต้องใช้เชื้อเพลิงปริมาณมหาศาล
นอกจากนั้น พวกเขาจะชักชวนกันให้ย้ายที่พักอาศัยมาอยู่ใกล้ที่ทำงาน เพื่อลดการใช้น้ำมัน หันมาบริโภคอาหารที่ใช้สารเคมีน้อย ใช้ของรีไซเคิล และส่วนใหญ่หันไปเป็นมังสวิรัติ
ถ้าจะแปลคำว่า ethical living ในแง่นี้ละก็ คงจะหมายถึง การมีชีวิตพรหมจรรย์ คือ ดำเนินชีวิตไปตามวิถีแห่งจริยธรรมด้วยการบริโภคอย่างมีสติ และรู้จักประมาณ
การหันมาใส่อกใส่ใจกับสิ่งที่เรากินเราใช้ โดยเฉพาะอาหารที่เรารับประทานว่ามีจริยธรรมหรือไม่ ได้ทำให้เราเห็นถึงปัญหาของระบบทุนนิยมและการจัดการสมัยใหม่มากขึ้น
เฮเลนา นอร์เบอร์ก ฮอดจ์ นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาระบบอาหารได้เสนอว่า หากเราจะฟื้นฟูคุณธรรมและศาสนธรรม เราจะต้องหันมาพิจารณาระบบอาหารที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง
ระบบการผลิตในโลกทุนนิยมได้ทำให้มิติทางจริยธรรมหดหายไป เพราะผู้ผลิตกับผู้บริโภคอยู่ห่างไกลจากกันมาก จนผู้บริโภคไม่มีโอกาสรับรู้ว่า
อาหารที่ตนบริโภคนั้นมาจากไหน
ผู้ผลิตกระทำกับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มอย่างไรบ้าง
มีการใช้สารเคมีหรือฮอร์โมนกระตุ้นอะไรบ้างหรือไม่ก่อนที่จะกลายมาเป็นอาหารหน้าตาสะอาดในแพ็คเกจที่ถูกสุขอนามัยให้เรารับประทาน
เราไม่เคยเห็นไก่ตอนที่ถูกฆ่า วัวถูกเชือด
ไม้ดอกถูกเร่งด้วยฮอร์โมน หรือไม้ผลถูกเร่งด้วยเอนไซม์
เด็กถูกบังคับเฆี่ยนตีให้ทำงาน หรือแรงงานต่างด้าวถูกกักขังไว้ใช้งานเหมือนสัตว์
เพราะมิติทางคุณธรรมและมนุษยธรรมเหล่านี้ถูกปกปิดไว้ด้วยระบบการผลิตขนาดใหญ่ที่ผู้บริโภคอยู่ห่างไกลออกไปจากวงจรการผลิตจนไม่รู้เห็นถึงความไร้คุณธรรมของกลไกการผลิต
เราจึงกินใช้อย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่เข้าใจว่าการบริโภคของตนนั้นอาจมีส่วนช่วยสนับสนุนระบบการผลิตที่ไร้มนุษยธรรมได้
เคยมีผู้นำอินเดียนแดงคนหนึ่งกล่าววิจารณ์ถึงความไร้มนุษยธรรมของระบบการผลิตอาหารของอเมริกาที่กระทำทารุณกรรมและทรมานสัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตตามความต้องการของตลาด
ในอเมริกานั้น ผู้บริโภคเนื้อไก่จะนิยมรับประทานเนื้ออกไก่ ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อล้วน ๆ ที่มักชำแหละแยกออกมาบรรจุแพ็คขายกัน หากเราไปซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สหรัฐก็จะเห็นเนื้ออกไก่ที่ใส่แพ็คขายนั้นมีขนาดใหญ่มาก
จนไม่น่าเชื่อว่าอกไก่จะมีขนาดใหญ่ได้อย่างนั้น
ผู้นำอินเดียนแดงเล่าว่า ในฟาร์มที่เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อให้ได้อกไก่ขนาดใหญ่นั้น ผู้เลี้ยงจะทำกรงไก่ที่ใช้ขังเลี้ยงไก่เหล่านี้ ให้เตี้ยที่สุด คือสูงเพียงแค่พอที่ไก่จะยืนอยู่ได้ ที่ทำให้กรงเตี้ยก็เพื่อบังคับให้ไก่ทั้งเล้าต้องก้มหัวลงอยู่ตลอดเวลา
การก้มหัวของไก่ต้องใช้กล้ามเนื้อบริเวณอกเพื่อรั้งส่วนคอลง
และการออกแรงกล้ามเนื้ออกเช่นนั้นตลอดเวลาเพราะถูกบังคับให้ก้มนั้น จะทำให้ได้กล้ามเนื้อบริเวณอกไก่ที่มีขนาดใหญ่
หากพิจารณาจากมุมมองของชีวิตพรหมจรรย์แล้ว การอุดหนุนซื้อไก่และเนื้ออกไก่ที่เลี้ยงมาเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมการทรมานสัตว์
จะมีชีวิตพรหมจรรย์ในโลกการบริโภคไร้พรมแดนจึงต้องรู้ทันระบบอาหารที่ผลิตอย่างไร้มนุษยธรรม


ส่วนหนึ่งของบทความ "ผู้บ่าวกินแมว ฟาร์มไก่ก้ม กับชีวิตพรหมจรรย์"
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดสลับขั้ว
วารสารรากแก้ว
ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๙
จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน