รถเข็น (0 ชิ้น)
 
จิตวิญญาณบริการปฐมภูมิ:

เขียนโดย admin
อังคาร 03 กรกฎาคม 2550 @ 17:00


เยียวยาความทุกข์ที่ยืดเยื้อ บำบัดภาวะเรื้อรังของการเจ็บป่วย

การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังเป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ได้อย่างมหันต์ทั้งต่อผู้ป่วยครอบครัวและญาติพี่น้อง แต่บริการทางการแพทย์แบบดั้งเดิมที่เน้นการให้บริการที่โรงพยาบาลด้วยแพทย์เฉพาะทางกลับไม่สามารถรองรับปัญหาดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควร ที่เป็นเช่นนี้มีเหตุผลทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และเชิงปรัชญา

ในเชิงประวัติศาสตร์ โรงพยาบาลเริ่มแรกที่สร้างกันขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น เป็นสถานที่สำหรับรองรับผู้ป่วยหรือผู้แสวงบุญที่เดินทางผ่านมาและต้องการที่พักอาศัย ผู้ป่วยที่มาพำนักอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลนั้นก็มักเป็นผู้ที่ไม่มีที่พึ่งหรือยากไร้จนไม่มีที่พักอาศัย คำว่า โรงพยาบาลในภาษาอังกฤษคือ Hospital นั้นมีรากศัพท์ร่วมกับคำว่า Hospitality ซึ่งแปลว่า ความมีน้ำใจให้ที่พำนักอาศัยแก่ผู้คน

โรงพยาบาลเมื่อแรกเริ่มจึงเป็นเสมือนที่พำนักอาศัยทั้งเพื่อการดูแลรักษาและการสงเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการเป็นที่รวมไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังรวมเอาคนพิการ คนปัญญาอ่อน รวมทั้งผู้ที่สังคมกีดกันรังเกียจไว้ในสถานที่พำนักรักษานี้เพื่อมิให้ไปปะปนหรือรบกวนสังคมของคนปกติด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่มาพำนักรักษานั้น ความเจ็บป่วยส่วนใหญ่ในสังคมยุคนั้นเป็นเรื่องโรคติดเชื้อต่างๆ เป็นหลัก การค้นพบเชื้อโรคและเทคนิคการทำให้ปราศจากเชื้อ รวมทั้งการค้นพบยาปฏิชีวนะได้ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งอาศัยการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนกลายเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของโรงพยาบาล

ส่วนโรคติดเชื้อที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้อย่างรวดเร็วและกลายเป็นโรคของความรังเกียจเดียดฉันท์ก็ถูกจัดการโดยการจัดตั้งสถานสงเคราะห์เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากสังคมโดยสร้างเป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้ป่วย เช่น นิคมโรคเรื้อน หรือนิคมวัณโรค

ซึ่งวิธีการแยกผู้ป่วยออกจากสังคมนี้ปัจจุบันถือเป็นวิธีการที่ไม่เป็นที่ยอมรับไปแล้ว เพราะเป็นการตอกย้ำภาพพจน์ของโรคว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

สำหรับโรงพยาบาลแล้ว แนวคิดการจัดการโรคยังคงมีรากฐานจากทฤษฎีเชื้อโรค คือการแยกกิจกรรมการรักษาโรคออกจากสังคมหรือชุมชน ซึ่งอาจยังมีความเหมาะสมและเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลสำหรับโรคหรือความเจ็บป่วยที่รักษาให้หายได้ในระยะเวลาสั้นๆ เช่น โรคติดเชื้อเฉียบพลัน อุบัติเหตุ หรือการคลอดบุตร

แต่สำหรับโรคเรื้อรังซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบันแล้ว รูปแบบการเยียวยารักษาที่เน้นกิจกรรมการรักษาในโรงพยาบาลโดยไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตทางสังคมหรือในชุมชนนั้นเป็นรูปแบบการรักษาที่มีข้อจำกัดอย่างยิ่ง เพราะโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หรือโรคเอดส์ ล้วนแต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ พฤติกรรมสุขภาพ รวมทั้งมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริบทของครอบครัวและชุมชน

และเมื่อระบบบริการทางการแพทย์ที่เป็นอยู่ได้แยกตัวออกจากชุมชน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์และวิธีคิดทางการแพทย์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การให้การเยียวยารักษาและแก้ปัญหาความเจ็บป่วยเรื้อรังจึงเป็นสิ่งที่บรรลุผลได้อย่างจำกัด

การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังต้องการระบบวิธีคิด ระบบงานและทักษะการทำงานใหม่ที่แตกต่างไปจากการดูแลแบบตั้งรับที่รอให้ผู้ป่วยไปหาที่โรงพยาบาล เพราะต้องรุกออกไปหาผู้ป่วยและให้การดูแลที่สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขของชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคน

ผู้ให้การดูแลรักษาไม่เพียงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังคุกคามชีวิตและความเป็นอยู่ดีของผู้ป่วย แต่ยังต้องแสวงหาวิธีการที่จะลดปัจจัยเสี่ยงและเสริมสร้างสุขภาพในระยะยาวไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การสร้างกลุ่มช่วยเหลือกันเอง การสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ หรือการเสริมสร้างบทบาทของครอบครัวในกระบวนการเยียวยารักษา

อีกทั้งยังต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของผู้ป่วยและครอบครัวในการเข้าถึงการรักษา

เพราะการรักษาโรคเรื้อรังนั้นมักเป็นภาระการดูแลที่ยืดเยื้อไปตลอดชีวิต สิ้นเปลืองทั้งด้านการเงินและเวลา ในบางกรณีระบบบริการสุขภาพที่เป็นอยู่นอกจากจะแก้ปัญหาได้อย่างจำกัดแล้ว ยังอาจเป็นสิ่งที่เพิ่มความทุกข์ซ้ำเติมให้กับผู้ป่วยและญาติได้หากไม่ระมัดระวัง

ระบบบริการปฐมภูมิและงานสุขภาพชุมชนนั้นมีศักยภาพและสามารถให้การดูแลรักษาความเจ็บป่วยเรื้อรังที่บูรณาการเข้ากับวิถีชุมชนได้ เป็นบริการสุขภาพที่ใส่ใจต่อมิติทางสังคมวัฒนธรรมและมีความละเอียดอ่อนต่อมิติของความเป็นมนุษย์ที่จะช่วยเติมเต็มมิติเหล่านี้ที่ขาดหายไปจากระบบบริการแบบตั้งรับในระบบโรงพยาบาลได้อย่างมีคุณค่า

ศักยภาพและคุณค่าที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เช่นนี้เองที่จะทำให้บริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิและงานสุขภาพชุมชนเป็นที่ศรัทธาและได้รับการยอมรับทั้งจากชุมชนและจากระบบบริการระดับอื่นๆ อย่างตระหนักถึงลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของบริการสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์



หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน