รถเข็น (0 ชิ้น)
 
การเรียนแพทย์กับความเป็นมนุษย์

เขียนโดย admin
จันทร์ 22 ตุลาคม 2550 @ 17:00


บทสัมภาษณ์ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ทางรายการวิทยุอุษาคเนย์ ๑๐๐.๕ อสมท. ๙ มิถุนายน ๒๕๕๐

ผู้จัดรายการ: จากเรื่องของโรค ความเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะไปต่อเรื่องของผู้รักษาโรคกันค่ะ อาชีพแพทย์ยังคงเป็นอาชีพยอดนิยมและได้รับการนับถือจากคนทั่วไป ค่านิยมที่ว่า ใครมีลูกหลานเรียนดี ก็อยากให้เป็นหมอนั้นยังมีอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน อาชีพแพทย์ก็เป็นอาชีพที่ถูกร้องเรียนจากสังคมมาก แพทย์ส่วนหนึ่งถูกมองว่าประกอบอาชีพเพื่อหารายได้เป็นหลัก จนขาดจิตวิญญาณ ขาดความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ นับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะแพทย์เป็นอาชีพที่เกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วย ความเป็นความตาย
ในประเด็นนี้ กำลังมีแนวคิดใส่หัวใจให้ระบบสุขภาพในการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษา จากเวทีการประชุมของมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จำเป็นที่เราๆ ท่านๆ ต้องรู้เหมือนกัน
โดยวันนี้ เราได้เรียนเชิญนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) มาพูดคุยกัน สวัสดีคุณหมอค่ะ

นายแพทย์โกมาตร: สวัสดีครับ

ผู้จัดรายการ: คุณหมอคะ การนำเสนอแนวคิดเรื่องใส่หัวใจในระบบสุขภาพ แสดงว่าก่อนหน้านี้ หลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์ของเราให้ความสนใจในเรื่องนี้กันน้อยหรืออย่างไ รคะ
นายแพทย์โกมาตร: ที่ผ่านมา การเรียนการสอนแพทย์มีการเน้นเรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ แต่ว่ายังได้ผลอย่างจำกัด การเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังเน้นให้แพทย์สามารถรักษาโรค หรือทำการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ แก้ปัญหาความเจ็บป่วยเป็นหลักครับ

ผู้จัดรายการ: เน้นการรักษาเป็นหลัก อาจจะเรียกอย่างนี้ได้ไหมคะ ว่ายังมีพื้นที่ในเรื่องจริยธรรมน้อยไปสักหน่อย
นายแพทย์โกมาตร: ครับ พอเราเรียนโดยเน้นไปที่เรื่องโรค จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์น้อยลง หมายความว่า ขาดความละเอียดอ่อนในการดูแล เช่น เรื่องมิติทางจิตใจ หรือมิติทางสังคมของผู้ป่วยหรือญาติ พอขาดความละเอียดอ่อนตรงนี้ ทำให้การแพทย์ขาดหัวใจไปส่วนหนึ่งครับ

ผู้จัดรายการ: แสดงว่าตอนที่จะลงทะเบียนเรียน เราไม่ได้กำหนดหลักสูตรการเรียนตรงนี้เป็นชิ้นเป็นอันหรือเปล่าคะ
นายแพทย์โกมาตร: มีความพยายามในสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่จะกำหนดเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ว่าโดยวิธีการเรียนการสอน ยังมีความสำเร็จอยู่ค่อนข้างน้อยครับ ประกอบกับทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพไทย มีแนวโน้มไปในทางใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ที่สำคัญคือมีลักษณะเน้นความเป็นแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น พอเป็นแพทย์เฉพาะทางก็จะมองละเอียดลงไปในอวัยวะเล็กๆ มากขึ้น ความรู้ทางแพทย์เฉพาะทางก็มีให้ศึกษามาก จึงทำให้การเน้นด้านนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรไปโดยปริยาย

ผู้จัดรายการ: จึงลืมบริบททางสังคมไป
นายแพทย์โกมาตร: ใช่ครับ โดยเฉพาะความละเอียดอ่อนในเรื่องความเป็นมนุษย์ ว่าคนไข้ที่มาหาเรา นอกจากเรื่องโรคแล้ว เขามีความทุกข์อะไรบ้าง บางครั้งเพียงแค่ถามคนไข้สักนิดหนึ่ง ให้เขาได้เล่าอะไรสักหน่อย เขาก็สามารถจะพูดถึงหรือสื่อสารความทุกข์ของเขากับเราได้ และจะช่วยในการคลี่คลายปัญหาของผู้ป่วยได้

ผู้จัดรายการ: เหมือนกับทุกวันนี้ เราตัดตอนตรงนี้เลย แค่ตรวจว่าระบบหายใจเป็นอย่างไร ความดันเป็นอย่างไร ปรกติไหม ก็จบและส่งต่อเลยอย่างนั้นใช่ไหมคะ
นายแพทย์โกมาตร: ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสถานพยาบาลก็แออัดด้วย แพทย์ต้องตรวจคนไข้เป็นร้อยๆ คนให้เสร็จในวันหนึ่ง จึงไม่มีเวลาพอจะละเอียดอ่อนถี่ถ้วน นี่เป็นเงื่อนไขในเชิงระบบ เพราะฉะนั้นเรื่องการเติมหัวใจให้กับการแพทย์ จึงไม่ใช่เรื่องการไปสอนแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องปฏิรูประบบบริการด้วย ให้คนไข้กับแพทย์มีสัดส่วนพอเหมาะพอสม ไม่แออัดจนเกินไป

ผู้จัดรายการ: หมายถึงเราต้องผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นให้มีสัดส่วนพอดีกับการรักษาพยายาล
นายแพทย์โกมาตร: ใช่ครับ และต้องกระจายระบบบริการให้ทั่วถึง ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชน เพราะหากมีแพทย์เยอะๆ แต่ไปกระจุกในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เขาจะไม่รู้จักวิถีชีวิตของชาวบ้าน สังคมวัฒนธรรม หรือความทุกข์ของคนในท้องถิ่นเป็นอย่างไร มีความวิตกกังวลอะไร แม้จะมีแพทย์เยอะ แต่ยังมีช่องว่างอยู่ดี

ผู้จัดรายการ: เราเลยมีระบบให้แพทย์ใช้ทุนไปประจำต่างจังหวัดใช่ไหมคะ
นายแพทย์โกมาตร: ใช่ครับ นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเพิ่มให้มากขึ้น และต้องขยายหน่วยบริการปฐมภูมิ คือหน่วยบริการสุขภาพขนาดเล็กๆ อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน ชาวบ้านนึกอยากไปหาก็ไปได้เลย โดยมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นพื้นฐาน

ผู้จัดรายการ: แล้วเนื้อหาที่กลุ่มของคุณหมอพยายามใส่เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษาเป็นอย่างไรคะ
นายแพทย์โกมาตร: เรื่องการฝึกฝนให้แพทย์มีความละเอียดในเรื่องความเป็นมนุษย์สามารถทำได้หลายท างครับ เช่น เมื่อเริ่มเข้าเรียนมาใหม่ๆ เราอาจจัดกิจกรรมให้นักเรียนแพทย์ได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น ไปพูดคุยเรียนรู้ว่า ยามที่คนเจ็บป่วย ความทุกข์เป็นอย่างไร เวลามาโรงพยาบาลแล้ว ความพึงพอใจในการมาหรือไม่มาโรงพยาบาลเป็นอย่างไร เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนแพทย์ตั้งต้นการเรียนโดยมีอุดมคติว่า การแพทย์มีไว้เพื่อเยียวยาความทุกข์ยากของชาวบ้านนะ ไม่ใช่แค่รักษาอวัยวะอย่างเดียว
อ ีกส่วนหนึ่งที่เราสามารถทำได้ คือกระบวนการให้เขาได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องแพทย์ด้วย เช่น การเรียนรู้สังคมวัฒนธรรมชาวบ้าน ต้องเสริมวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์เข้ามา ซึ่งจะทำให้เขาไม่มองแต่เรื่องโรคอย่างเดียว

ผู้จัดรายการ: ถ้ารู้เรื่องอื่นๆ ด้วย การวิเคราะห์สมมติฐานของโรคอาจจะรอบด้านมากขึ้นด้วย
นายแพทย์โกมาตร: ใ ช่ครับ การแพทย์ก็เป็นวิธีมองนะครับ ถ้าเปรียบเทียบวิธีมองกับไฟฉาย สมมติว่าเรามีไฟฉายอยู่กระบอกหนึ่ง ซึ่งสว่างมาก เหมือนวิธีมองทางการแพย์ที่มีความรู้ทางการแพทย์เยอะ แล้วเราไปมองหากุญแจที่ทำตกไว้ ถ้าไฟฉายนั้นมีลำแสงตรงกลางที่สว่างมากเพียงลำแสงเดียว เมื่อเราส่องไฟฉายไปเจอกุญแจ เหมือนกับมองเห็นโรค แต่พอเราจะไปเก็บกุญแจนั้น หัวของเราอาจจะไปชนเข้ากับกิ่งไม้ หรือขาเราอาจจะเดินไปสะดุดตอไม้ หรือโดนงูฉก ไฟฉายที่ดี นอกจากจะมีลำแสงสว่างตรงกลางแล้ว ต้องมีกรวยแสงรอบๆ ออกมาด้วย เพื่อจะได้เห็นว่า นอกจากกุญแจที่เราจะไปหยิบแล้ว ยังมีอะไรอื่นๆ ในชีวิตของชาวบ้านที่อาจจะมีผลต่อการทำงานของเราบ้าง พอเห็นอย่างนั้น จะได้มีความละเอียดและระมัดระวังว่า แม้เป้าหมายเราจะคือการไปหยิบกุญแจก็จริง แต่ระหว่างนั้น บริบทรอบข้างของชีวิตชาวบ้านมีเรื่องอะไรที่เราต้องใส่ใจบ้าง หากเป็นแบบนี้ การแพทย์ก็จะมีความอ่อนโยนต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น

ผู้จัดรายการ: แสดงว่าคุณหมอมองว่า การผลิตแพทย์ที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย และมันมีข้อมูลอะไรที่ทำให้เห็นว่าเราต้องมาปฏิรูปการเรียนการสอนตรงนี้กันแ ล้ว
นายแพทย์โกมาตร: ข้อมูลที่มักจะเป็นที่วิตกกังวลคือ ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยที่เสื่อมลงไปมาก ซึ่งจุดสุดท้ายของมันคือนำไปสู่การฟ้องร้องแพทย์ แต่ผมไม่คิดว่า เราควรจะทำการแพทย์ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ เพราะกลัวเรื่องฟ้องร้อง แต่เราควรทำเรื่องนี้ โดยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการแพทย์ที่ดี เพราะถ้าเราทำด้วยความกลัวถูกฟ้อง ยังมีวิธีอื่นอีกเยอะ เช่น ไปทำประกันให้กับแพทย์ทุกคน เวลาถูกฟ้องมา บริษัทประกันก็จ่ายไป แต่พอเป็นแบบนั้น การแพทย์ก็ไม่มีความอ่อนโยนอยู่ดี
แต่เรื่องการฟ้องร้องเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลเช่นกัน เพราะเมื่อแพทย์กลัวว่าจะถูกฟ้องร้อง ก็จะรักษาแบบป้องกันตัวเอง เช่น ตรวจเจออะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องรักษาไปก่อน หรือส่งตรวจเอ็กซเรย์ให้ทั่วถึง ไม่อย่างนั้นเกรงจะถูกกล่าวหาว่าตรวจไม่ละเอียด พอเป็นแบบนี้ ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จะสูงขึ้นมาก
ถ้าเราไปดูข้อมูลเรื่องการฟ้องร้องจริงๆ เราจะพบว่าสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องแพทย์ ประการแรก คือการเสียความไว้วางใจระหว่างกัน เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการฟ้องร้อง
ประการที่สอง คือความรู้สึกว่าถูกใช้อำนาจกระทำโดยไม่เป็นธรรม เช่น อยากจะได้ข้อมูลอะไร แพทย์ก็ไม่บอก อยากจะรู้ว่าเป็นอะไร แพทย์ก็ไม่ใส่ใจที่จะชี้แจง
ประการที่สาม เป็นเรื่องการสื่อสาร
ส ามเหตุผลนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการฟ้องร้อง แต่สามเรื่องนี้มันมาจากพื้นฐานของการขาดความละเอียดอ่อนในมิติทางสังคม ขาดความเคารพในคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย เช่น เวลาเขาเดือดร้อนอยากรู้อะไร ถามมาที่เรา เพราะเขามีความทุกข์ เราละเลยไม่แยแส อย่างนี้ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และคุณค่าของชีวิตคนอื่น เราถือเสียว่าจะบอกหรือไม่บอกก็ได้ ถือว่าขาดความละเอียดอ่อนในเรื่องนี้ไป เพราะฉะนั้น การเติมคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือความละเอียดอ่อนให้กับการแพทย์ จะช่วยแก้ปัญหาทั้งสามข้อที่ว่ามา

ผู้จัดรายการ: เป็นไปได้ไหมคะว่า สถานะความเป็นแพทย์ค่อนข้างจะได้รับการยกย่องค่อนข้างสูงในสังคมไทย คนไข้จึงเกรงใจในสถานภาพตรงนี้
นายแพทย์โกมาตร: ใช่ครับ มีการพูดกันมากว่า เป็นมิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แพทย์มีอำนาจเยอะ คนไข้ไม่กล้าถามอยู่แล้ว หรือเวลาจะถามอะไร คนไข้จะเกรงใจแพทย์มาก แต่มองในอีกแง่หนึ่ง แพทย์ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราสังเกตพบว่า ถ้าเราได้จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้แพทย์ได้ไปเรียนรู้ความทุกข์ของคน เขาจะมีความละเอียดอ่อนขึ้นมาได้ การใช้อำนาจโดยไม่จำเป็นจะน้อยลง และมีความระมัดระวังมากขึ้น อยางเช่นในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งมีสถาบันทางการแพทย์ที่สำคัญมากในสหรัฐอเมริกา เขามีการนำแพทย์ไปฝึกการอ่านการเขียนบทกวี หรือเขียนเรื่องสั้น กับกวีหรือนักเขียนเรื่องสั้น และพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสามด้าน
หนึ่ง มีความระมัดระวังเวลาพูดคุยสื่อสารกับผู้ป่วย จะรู้ว่าต้องใช้ภาษาที่เหมาะสม และยังรู้อีกว่า การใช้ภาษาที่กำกวมอาจจะสื่อความหมายผิด และอาจจะมีผลมากกว่าที่เราคิดได้
สอง พอไปฝึกเขียน เขาจะมีความสามารถในการคิดแทนคนอื่น เพราะในกระบวนการเรียนเรื่องการเขียนเรื่องสั้น พอเราจะเขียนชีวิตของคน เราจะต้องเอาตัวไปคิดแทนเขา เช่น เราเขียนถึงคุณป้าคนนี้ แกป่วยเป็นมะเร็ง แกจะคิดอย่างไร แกห่วงลูกของแกอย่างไร พอฝึกคิดแทนได้อย่างนี้ พอไปเจอสถานการณ์จริง เขาจะรู้ว่า จะต้องนึกถึงหัวอกผู้ป่วยในแง่นี้บ้าง
สาม แพทย์จะมีความนึกคิดตรึกตรองถึงอุดมคติของชีวิตตัวเองมากขึ้นว่า ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ เป็นชีวิตที่มีคุณค่าจริงแล้วหรือ การทำงานแบบนี้ได้เติมความหมายของชีวิตให้เต็มได้จริงไหม ซึ่งในมิตินี้เป็นการเรียนรู้และเติบโตของความเป็นมนุษย์ในตัวแพทย์ด้วยนะคร ับ ยกตัวอย่างเช่น การดิ้นรนไปรักษาคนไข้หลายแห่ง และอาจจะอยู่เวรได้บ้างไม่ได้บ้าง เพื่อจะต้องการรายได้มากขึ้น อาจจะฉุกคิดขึ้นมาว่า ชีวิตการเป็นแพทย์มีมิติในเชิงอุดมการณ์หรืออุดมคติต่างๆ บ้าง

ผู้จัดรายการ: อาจจะเกิดความภาคภูมิใจมากขึ้นกว่าการมุ่งไปที่เม็ดเงินเท่านั้นใช่ไหมคะ
นายแพทย์โกมาตร: สำคัญมากครับ คือเรื่องความภูมิใจในคุณธรรมที่ตนเองรักษาไว้ได้ ผมคิดว่าต้องปลูกฝังโดยผ่านกระบวนการเช่นนี้ครับ

ผู้จัดรายการ: แนวคิดนี้จะเริ่มผลักดันให้เป็นรูปธรรมเมื่อไรคะ
นายแพทย์โกมาตร: ตอนนี้มีความพยายามในโรงเรียนแพทย์หลายแห่งมาก ว่าจะมีการทบทวนหลักสูตรในการเรียนการสอนกัน และหลายแห่งได้ริเริ่มขึ้นมาบ้างแล้ว รูปแบบหนึ่งที่เราพบอย่างชัดเจนที่สุด คือพอเราเอานักเรียนแพทย์ไปเรียนรู้ผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต เขาจะเห็นมิติความรักความห่วงใย ความเป็นมนุษย์ในคนที่กำลังจะตาย จะเกิดการกระทบทางอารมณ์อย่างรุนแรง และรู้สึกถึงความหมายของวิชาชีพตัวเองว่า การช่วยชีวิตคนนั้นมีคุณค่ามากกว่าเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่เขาได้รับ ซึ่งตัวอย่างประสบการณ์เหล่านี้ เรากำลังพยายามเก็บเกี่ยวรวบรวมอยู่ รวมทั้งเรายังมีการเรียนรู้จากต่างประเทศด้วย
ในปีนี้ ปีหน้าและปีถัดไป จะมีการประชุมเรื่องแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นเรื่องของสถาบันที่สอนแพทย์ทุกแห่งทั่วประเทศ รวมตัวกันเพื่อทบทวนว่าการศึกษาของแพทย์ควรจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะไหน เพราะฉะนั้น การประชุมจะกำหนดหัวเรื่องนี้เป็นหลัก และจะมีการทบทวนหลักสูตร มองหาวิธีการที่จะบูรณาการเรื่องความเป็นมนุษย์เข้าไปอยู่ในหลักสูตรแพทยศาส าตร์ทุกระดับ โดยไปสิ้นสุดในปี ๒๕๕๒

ผู้จัดรายการ: ของเอาใจช่วยนะคะ เพราะเป็นความหวังของคนเจ็บป่วยจริงๆ ขอบพระคุณมากที่ให้เกียรติกับรายการค่ะ
นายแพทย์โกมาตร: สวัสดีครับ



หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน