รถเข็น (0 ชิ้น)
 
ความหมายและกาละเทศะของอารมณ์

เขียนโดย admin
เสาร์ 29 มีนาคม 2551 @ 17:00


ผมมีโอกาสพูดคุยกับคุณพฤ โอ่โดเชาและคุณพ่อ คือ พะตี จอนิ ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา



หัวข้อในการสนทนาในวันนั้นเป็นเรื่องวัฒนธรรมนิเวศแนวลึก: โลกทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์ (Deep Ecological Culture: A Sacred View) ซึ่งเป็นการสนทนาสะท้อนเรื่องราวและภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และธรรมชาติผ่านโลกทัศน์และการปฏิบัติของชาวปกาเกอะญอที่เรียนรู้และแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ

หรือในภาษาของพะตี จอนิ คือ การหาทางคืนดีกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับเทคโนโลยี (ซึ่งประการหลังนี้พะตี จอนิบอกว่ายังไม่รู้จะทำอย่างไร)

ในตอนหนึ่งของการสนทนา คุณพฤได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ค้นพบความหมายทางวัฒนธรรมของโลกและธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ในเข้าของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวปกาเกอะญอ

เช่น กระด้ง ซึ่งด้านบนที่สานเป็นลายสองนั้น พฤบอกว่า เป็นลายเส้นคู่ที่สะท้อนความเป็นอยู่คู่กันของสรรพสิ่ง เช่น ชายกับหญิงที่ต้องอยู่ร่วมกัน กระด้งนั้นชาวปกาเกอะญอเรียกว่า "ก่อนแหล่" มีความหมายว่า "โลกกว้าง" เพราะกระด้งเป็นเครื่องมือที่ใช้ฝัดข้าว การฝัดกระด้งทำให้เราสามารถแยกเมล็ดข้าวลีบออกจากข้าวเปลือกได้ สำหรับข้าวเปลือกที่ตำแล้วกระด้งใช้ฝัดแยกแกลบออกจากเมล็ดข้าวได้ ฝัดข้าวเปลือกออกจากข้าวสารได้ และยังฝัดแยกข้าวหักออกจากข้าวเมล็ดเต็มได้อีกด้วย

และที่กระด้งมีความหมายว่า โลกกว้างก็เพราะการที่เราสามารถฝัดแยกข้าวจนได้ข้าวสารมาหุงกินนี้เองที่ทำให้เราสามารถสัมพันธ์อย่างเกื้อกูลกับคนอื่นๆ ได้ เรียกว่า สรรพสิ่งที่มีอยู่คู่กันนั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลผู้คน ทำให้โลกของเรากว้างขวางขึ้นกว่าการอยู่ตัวลำพังตัวคนเดียว

ในการมีชีวิตอยู่ในโลกธรรมชาตินั้น ชาวปกาเกอะญอสร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆ และความหมายที่ว่านี้เองก็เป็นตัวกำหนดโลกของความสัมพันธ์ต่างๆ ด้วยหรือจะเรียกว่า ความหมายทางวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นตัวกลาง (Mediator) ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมีส่วนในการกำหนดความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในชุมชนปกาเกอะญอ รวมทั้งเป็นตัวเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างกันของสิ่งต่างๆ ด้วย และความหมายหลายอย่างในจักรวาลทัศน์ของชาวปกาเกอะญอนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ เช่น เด็กกำพร้า แม่หม้าย หรือหญิงโสดที่ไม่ได้แต่งงานนั้นในสังคมโดยทั่วไปมักถือเป็นผู้ที่สังคมรังเกียจหรือระแวงสงสัย หรือแม้แต่ข้าวที่เรากินก็มีความหมายในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องให้การเคารพนอบน้อมด้วย

พฤเล่าถึงความเคารพต่อชีวิตของพืชและสรรพสัตว์ว่า เวลาที่เรากินข้าวก็ต้องละอายที่เรากินเขาเป็นอาหาร เพราะข้าวก็มีชีวิต "กินข้าวต้องให้ข้าวคุ้มใจ"

สัตว์ต่างๆ ก็เช่นกัน เวลาที่เราไปล่าสัตว์ เช่นไปยิงนกยิงหนูมาเป็นอาหาร บางทีหนูที่เราฆ่ามาทำอาหาร พอผ่าท้องออกมาก็เห็นว่ามันมีลูกน้อยๆ อยู่ในท้อง แรกๆ อาจไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ถ้าเกิดขึ้น 3 ครั้ง 5 ครั้ง เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเรากำลังเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นจนเกินไปหรือเปล่า ลึกๆ เราฆ่าสัตว์อื่นมาเป็นอาหารจึงมีส่วนที่เราต้องรู้สึกผิดบ้าง

บางครั้งในครอบครัวกำลังฆ่าหมูเพื่อมาทำอาหารในงานเลี้ยง ลูกหลานเล็กๆ มาเห็นเข้าก็จะร้องให้และตะโกนถามพ่อแม่ว่าทำอย่างงั้นได้อย่างไร ไปฆ่ามันทำไม อย่าฆ่ามันเลย เพราะเด็กๆ ก็เคยเล่นเคยเลี้ยงหมูนั้นมาก่อน พ่อแม่ก็จะรีบกันเด็กออก บอกว่าอย่าเข้าใกล้ และเบี่ยงเบนความสนใจหรือตัดบทด้วยการถามว่าใครจะกินอาหารอะไรใหม อะไรทำนองนี้

การกันเด็กๆ ออกจากกิจกรรมการฆ่าสัตว์ การเบี่ยงเบนความสนใจ หรือการตัดบทที่ว่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าอารมณ์ผูกพันและความรู้สึกผิดนั้นถูกจัดการให้มีที่ทางที่เหมาะสมกับกาละและเทศะ ในบางกาลเทศะ อารมณ์อาจไม่ได้รับการอนุญาตให้แสดงออก

หรือจะพูดว่า อารมณ์บางอย่างในบางบริบทจะกลายเป็นอารมณ์ต้องห้ามไปก็ได้ โดยในการห้ามการแสดงออกทางอารมณ์อาจเกิดขึ้นจากการให้ความหมายของวัตถุแห่งการรับรู้ เช่น ในกรณีที่พฤเล่าถึงความเป็นผู้หญิงและอารมณ์ทางเพศในหมู่บ้านว่า แม่ที่เปิดเต้านมให้ลูกดูดไม่กระตุ้นความต้องการทางเพศเพราะผู้หญิงจะเปลี่ยนสถานภาพจากหญิงสาวไปเป็น "แม่บ้าน" ตั้งแต่เมื่อมีครอบครัวหญิงสาวก็เปลี่ยนเสื้อผ้าที่สวมใส่ ซึ่งพฤบอกว่าในหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอนั้น เมื่อหญิงสาวเป็นโสดจะใส่ชุดขาวและต้องเปลี่ยนเป็นเสื้อดำปักลูกเดือยเมื่อมีครอบครัว

ที่ผมเล่าเรื่องนี้เสียยืดยาวก็เพื่อแสดงว่าอารมณ์ในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด สังคมมีกลไกและกระบวนการจัดการกับอารมณ์ด้วยการสร้างความหมายหรือสร้างขอบเขตของพื้นที่และกาลเทศะของการแสดงออกทางอารมณ์

ตอนหนึ่งของบทนำ บทความเรื่อง อารมณ์ วิทยาศาสตร์กับการแพทย์ Download ได้ที่หน้า ดาวน์โหลด www.shi.or.th/download/42/



หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน