รถเข็น (0 ชิ้น)
 
นกกระจอก ไซเบอร์เนติคส์ กับการท้าทายอำนาจ

เขียนโดย admin
อังคาร 27 พฤษภาคม 2551 @ 17:00


คิดสลับขั้ว โดยโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผมไม่ค่อยได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดบ่อยนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพอเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยก็ไปเกี่ยวพันกับเรื่อง กิจกรรมนักศึกษา



คุณพ่อของผมสนับสนุนให้ผมเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษาโดยเฉพาะการออกไปเรียนรู้เรื่องสาธารณสุขชนบทในช่วงปิดเทอม บางครั้งผมกลับไปเยี่ยมที่บ้านในช่วงปิดเทอม คุณพ่อจะถามว่า กลับมาบ้านทำไม ทำไมไม่ใช้ช่วงปิดเทอมออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลในชนบท

พอผมไปทำงานเป็นแพทย์ในชนบท พ่อดูจะดีใจเป็นพิเศษ เวลาที่ผมกลับไปบ้าน สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดอย่างหนึ่งจึงเป็นเวลาที่ได้นั่งอยู่กับพ่อที่โต๊ะบัญชี พ่อจะชอบฟังเรื่องราวที่ผมได้จากการทำงานในชนบท และพ่อก็มักมีเรื่องเล่าแบ่งปันให้ผมกลับมาเสมอ

หลายเรื่องผมยังจดจำได้ดีถึงวันนี้

คราวหนึ่ง ผมเล่าให้พ่อฟังเรื่องปราชญ์ชาวบ้านในอีสานที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานที่เน้นความสมดุลของธรรมชาติ พ่อบอกว่า เรื่องความสมดุลเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าระบบนิเวศเสียสมดุลจะทำให้เกิดปัญหามาก ตอนพ่อหนุ่มๆ ทำนาอยู่ที่เมืองจีน พอใกล้ถึงฤดูเก็บเกี่ยว รวงข้าวที่ออกเริ่มแก่ก็จะมีฝูงนกกระจอกฝูงใหญ่บินลงมากินข้าวที่ทุ่งนา นกเหล่านั้นนอกจากจะจิกกินข้าวแล้วที่ทำความเสียหายมากกว่าก็คือมันจิกจนข้าวเปลือกร่วงหล่นตามพื้นดินเป็นจำนวนมาก

ชาวนาหลายหมู่บ้านในบริเวณนั้นพากันหาทางจัดการกับฝูงนกกระจอกโดยได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มพร้อมกับนำเอากลอง ฉิ่งฉาบ รวมทั้งปี๊บ หม้อและภาชนะต่างๆ ที่ตีให้เกิดเสียงดังได้ พอฝูงนกกระจอกจะบินลงที่นาก็รีบตีกลองและภาชนะต่างๆ ให้เกิดเสียงดัง ฝูงนกตกใจก็โผบินขึ้นหนีไปทางอื่น พอจะบินลงอีก ชาวนาอีกกลุ่มที่คอยท่าอยู่ใกล้ๆ ก็ทำเสียงดังขึ้นขับไล่นกไม่ให้บินลงได้

นกเหล่านี้บินไปบินมาจนหมดแรงก็จะร่วงลงไปนอนหมดแรงอยู่กับพื้นดิน ชาวนาจับนกจำนวนมากเหล่านั้นแบ่งปันกันนำไปปรุงเป็นอาหาร

พ่อบอกว่า ชาวนาเมื่อกำจัดฝูงนกได้ต่างก็พากันดีใจว่าปีนั้นการเก็บเกี่ยวข้าวคงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะในปีนั้น กลับปรากฏว่ามีหนอนและแมลงศัตรูพืชมากัดกินต้นข้าวและรวงข้าวจนแทบไม่ได้ผลผลิต

พ่อบอกว่านกกระจอกนั้นนอกจากจะกินข้าวแล้ว ยังจิกกินหนอนและแมลงไปด้วย ซึ่งเป็นการกำจัดศัตรูพืชโดยชาวนาไม่รู้ เป็นการควบคุมกันของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศให้เกิดความสมดุล เมื่อนกถูกกำจัดมากเกินจนไม่มีนกไปกินแมลง แมลงก็เพิ่มทวีขึ้นจนทำความเสียหายได้

ผมมาทราบภายหลังว่า ระบบนิเวศที่ควบคุมกันเป็นวงจรสะท้อนกลับนี้มีนักมานุษยวิทยาคนสำคัญคือ เกรเกอรี่ แบตสัน ได้ทำการศึกษาและได้สร้างแนวคิดเรื่องไซเบอร์เนติคส์ (Cybernetics) ไว้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว แกยกตัวอย่างว่า ในป่าแห่งหนึ่ง หากสิงโตขยายพันธุ์มากขึ้นและไปกินกวางที่อยู่ในป่าจนเหลือกวางน้อยลง สิงโตจำนวนหนึ่งก็จะไม่มีอาหารกิน ซึ่งจะมีผลให้การขยายพันธุ์ของสิงโตลดลง จำนวนประชากรกวางก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้

แบตสันบอกว่า ส่วนประกอบสำคัญของระบบที่ซับซ้อนอย่างระบบนิเวศนี้คือ วงจรปฏิกิริยาป้อนกลับที่เรียกว่า feedback loop ที่ช่วยให้ระบบสามารถปรับตัวไปสู่สมดุลใหม่ได้

ระบบร่างกายของมนุษย์เป็นตัวอย่างของระบบซับซ้อนที่มีวงจรปฏิกิริยาป้อนกลับมากมายที่ช่วยให้ร่างกายเราปรับตัวและรักษาสมดุลไว้ได้

ระบบสังคมก็เป็นระบบที่ซับซ้อนระบบหนึ่ง ซับซ้อนมากกว่าระบบอื่นๆ เพราะมีมนุษย์ที่มีจิตใจและการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนที่สุดเป็นส่วนประกอบสำคัญ ยิ่งเมื่อรวมตัวกันเป็นสังคมและเชื่อมโยงกันเป็นระบบโลกบาลก็ยิ่งทวีความซับซ้อนเป็นระบบซ้อนระบบที่เรียกว่า Nested system ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของระบบสังคมสมัยใหม่ก็คือการขาดวงจรปฏิกิริยาป้อนกลับที่ดี ทำให้ปัญหาต่างๆ สะสมจนเกินสมดุล

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือเรื่องมลภาวะ ลองคิดง่ายๆ ว่าถ้าให้รถทุกคันต้องต่อท่อไอเสียมาไว้ที่ด้านหน้ารถแทนที่จะไว้ท้ายรถ ควันดำที่เกิดขึ้นจะเข้าสู่วงจรป้อนกลับบังคับให้เจ้าของรถต้องแก้ไขเครื่องยนต์ของตนทันที เราคงไม่มีรถควันดำวิ่งอยู่เต็มเมืองอย่างนี้

หรือลองย้ายบ้านของกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยไปอยู่ข้างสนามบินสุวรรณภูมิให้ลองไปนอนฟังเสียงเครื่องบินขึ้นลงทุก 5 นาทีดู จะได้รู้ว่านโยบายการแจกยานอนหลับกับที่อุดหูให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเสียงเครื่องบินนั้น เป็นนโยบายที่งี่เง่าขนาดไหน

ถ้าเสียงร้องเรียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรป้อนกลับที่ช่วยสะท้อนปัญหาถูกละเลย ระบบก็จะเสียสมดุลมากขึ้น เมื่อชาวบ้านหมดทางสู้ผ่านการร้องเรียนก็ต้องสู้นอกรูปแบบ
ผมจึงไม่แปลกใจที่ชาวบ้านรอบสนามบินสุวรรณภูมิออกมาประกาศว่าหากไม่แก้ปัญหาให้ชัดเจนก็จะปล่อยบอลลูนรบกวนการบิน ซึ่งอาจทำให้เครื่องบินตกได้

และหากเรามองจากแนวคิด Cybernetics ก็คงจะเห็นได้ไม่ยากว่า ทำไมในประวัติศาสตร์การต่อสู้เมื่อผู้ไร้อำนาจถูกต้อนให้จนตรอกนั้น การก่อกวน การบ่อนทำลายหรือแม้แต่การก่อการร้ายจึงกลายเป็นทางออกสุดท้ายที่ถูกใช้เพื่อท้าทายและตอบโต้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมเสมอ

เมื่อไม่มีวงจรป้อนกลับที่ช่วยสะท้อนให้เราแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ ได้กว่าเราจะขยับเพื่อปรับตัวได้ปัญหาต่างๆ ก็สะสมจนยากที่จะแก้ไขและก่อให้เกิดความเสียหายมาก

ไม่ใช่เพราะสัญญาณในวงจรป้อนกลับถูกบิดเบือนให้เป็น “โจรกระจอก” หรอกหรือที่ทำให้ปัญหาความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อเรื้อรังและสร้างความเสียหายแก่ชีวิตผู้คนได้ถึงเพียงนี้




หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 7 : ฟ้าหลังฝน
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 6 : หุ้นส่วนความดี
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 5 : ก่อนโลกจะขานรับ
หนังสือชุดงานคือความดี เล่ม 4 : กำลังใจและความหวัง
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน