รถเข็น (0 ชิ้น)
 
อำนาจของเรื่องเล่ากับการพัฒนาแนวคิดบริการสุขภาพปฐมภูมิ

เขียนโดย admin
จันทร์ 30 มกราคม 2549 @ 17:00


ในทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา เรื่องเล่า (narrative) ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องบอกผ่านต่อ ๆ กันไป จากปากคนหนึ่งสู่การรับรู้ของคนอื่น ๆ หากตัวเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดออกมายังได้สร้างตัวตน (self) และอัตลักษณ์ (identity) ของผู้เล่าเรื่องให้คนอื่นรับรู้อีกด้วย  

ที่สำคัญเรื่องเล่าได้ช่วยสถาปนาความจริงชุดต่าง ๆ ขึ้นมา โดยบทบาทกำหนดของคนที่เล่าเรื่องเอง เมื่อเรื่องเล่ามีอำนาจมากมายถึงขนาดนี้จึงเป็นธรรมดาที่คนหลายกลุ่มในสังคมช่วงชิงให้ตัวเองได้มีโอกาสเป็นคนเล่าเรื่อง เพราะเท่ากับทำให้ตนเองมีสถานะเป็นคนกุมความจริงชุดหนึ่งของสังคม เรื่องเล่าจึงช่วยให้คนด้อยโอกาสทางสังคม มีตัวตน มีสิทธิ์ มีเสียง มีอำนาจทางสังคม และในทางการแพทย์และสาธารณสุข การรวมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (self-help group) ของผู้ป่วยบางประเภท ได้มีการใช้เรื่องเล่าช่วยเยียวยาปัญหาด้านจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้ป่วย 

เรื่องเล่าที่ถ่ายทอดจากชีวิตจริงของคนทำงานปฐมภูมิและเขียนขึ้นโดยคนทำงานเอง ได้บอกเล่าชีวิตของคนเจ็บคนป่วย คนทุกข์คนยาก คนพิการ คนที่เผชิญกับความรุนแรงด้านต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในชุมชนที่เหล่าคนทำงานได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คนทำงานบางคนบอกเล่าเรื่องราวชีวิตจริงของเขาว่า ไม่เพียงต้องเข้าไปช่วยพยุงชีวิตคนทุกข์คนยากในชุมชนให้หยัดยืนมีชีวิตต่อไปได้ หากตัวคนทำงานเองก็ต้องหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ หล่อเลี้ยงตัวตน ให้ก้าวพ้นอุปสรรคจากการทำงาน

เรื่องเล่าจากชีวิตจริงไม่เพียงสะท้อนตัวตนภายในของคนทำงาน ยังได้สะท้อนระบบราชการสาธารณสุขที่พิกลพิการบางด้าน ที่มุ่งผลสำเร็จตัวชี้วัดเชิงตัวเลขแต่ละเลยมิติเรื่องราวความเป็นมนุษย์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของบุคคลและชุมชน ซ้ำร้ายระบบราชการสาธารณสุขเองกลับเป็นตัวขัดขวาง กีดกัน เพิ่มการตีตราคนทุกข์คนยากในบางเหตุการณ์ จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่เป็นผลผลิตจากระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนพยาบาลและสาธารณสุข

การเก็บข้อมูลมาเขียนเรื่องเล่าด้วยเครื่องมือวิถีชุมชน หรือเครื่องมือศึกษาชุมชนเชิงลึก 7 ชิ้น (การทำแผนที่เดินดิน ผังเครือญาติ โครงสร้างองค์กรชุมชน ระบบสุขภาพชุมชน ปฏิทินชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน และประวัติชีวิต) นำพาเหล่าคนเขียนให้ไปเรียนรู้ชีวิตจริงเบื้องหลังตัวละครที่พวกเขาบรรจงเขียนถึง และเป็นคนจริง ๆ ที่พวกเขาพบเจออยู่เสมอเวลาที่ตัวละครเหล่านี้สวมบทบาทเป็นคนไข้มารักษาที่สถานพยาบาล

แต่การเจอกันบนสถานพยาบาลก็จำกัดบทบาทการแสดงให้เหลือพียงบทบาทของความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ เท่านั้น ซึ่งมีช่วงชั้นของอำนาจที่เหลื่อมล้ำกันเป็นช่องว่างกีดกัน การซักถามข้อมูลประวัติชีวิตของตัวละคร ประวัติครอบครัว ร่วมกับประวัติศาสตร์ชุมชน ไม่เพียงทำลายหัวโขนที่กำกับบทบาทการแสดงของหมอกับคนไข้ หากได้สร้างการยอมรับระหว่างกัน และช่วยให้คนทำงานได้ตระหนักว่า ความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสที่คนไข้เผชิญอยู่นั้น บางเหตุการณ์ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ด้วยเม็ดยา หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูง

เพราะความเจ็บป่วยของชาวบ้านสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรม ค่านิยมท้องถิ่น และระบบจารีตวัฒนธรรมดั้งเดิม

ที่สำคัญเรื่องราวชีวิตของตัวละครที่เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ได้ช่วยลดความอหังการอำนาจทางการแพทย์ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนไข้ได้ทุกเรื่อง คนทำงานอาจจำเป็นต้องหันกลับมาใส่ใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเยียวยาปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งที่มนุษย์พึงกระทำกับเพื่อนมนุษย์
เรื่องราวของคนตัวเล็ก ๆ ในระบบบริการสาธารณสุข ที่ไม่มีอำนาจหรือตำแหน่งใหญ่โต หรือยศถาบรรดาศักดิ์อะไร แต่เป็นคนทำงานตัวเล็ก ๆ ที่มีจิตใจอันยิ่งใหญ่ ที่ถือเอาการทำงานเป็นการทำความดี

คนทำงานเหล่านี้จึงอาศัยเรื่องเล่าที่พวกเขาเขียนขึ้น พลิกสถานะกลับมาเป็นคนบ่งการกำหนดภาพของระบบบริการปฐมภูมิที่ดำรงอยู่จริง ๆ ในสังคมไทย พร้อมกับเสนอจินตนาการใหม่ของระบบบริการปฐมภูมิที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการปฎิบัติงานจริง

สถานะของเรื่องเล่าที่บรรจงถ่ายทอดผ่านน้ำเนื้อชีวิตจริงของคนทำงานปฐมภูมิ แม้จะได้ทลายกรอบคิดเกี่ยวกับระบบบริการปฐมภูมิอันโรแมนติกสวยงามในฝันใครลงไปบ้าง แต่การสะสมรูปธรรมจากการทำงานจริงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทบทวนความคิด พร้อมกับนำเสนอกระบวนทัศน์สุขภาพใหม่สู่สังคมจากคนทำงานจริง ก็เป็นจุดตั้งต้นการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาจจะกลับหัวกลับหางไปบ้างในการรับรู้ของคนทั่วไปที่คุ้นเคยกับการสั่งการนโยบายจากเบื้องบน อย่างไรก็ตาม การรับฟังเรื่องเล่าของคนอื่น ก็สะท้อนถึงภาวะตัวตนที่เป็นจริงของเราเองด้วย และนี่คืองานวิจัยความดีชิ้นแรก ๆ ของแวดวงสาธารณสุขไทยที่เขียนขึ้นโดยคนในพื้นที่ปฏิบัติงานจริง



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน