รถเข็น (0 ชิ้น)
 
ปลาซิว หญ้าเจ้าชู้ กับนิเวศปรัชญา

เขียนโดย admin
อาทิตย์ 30 กรกฎาคม 2549 @ 17:00


อาร์น เนส (Arne Naess) กับพอตีจอนิ โอเดเชา มีชีวิตอยู่ห่างไกลกันคนละมุมโลก อาร์น เนสนั้นเป็นนักนิเวศปรัชญาชาวนอร์เวย์ ส่วนพอตีจอนิ โอเดเชาเป็นปราชญ์ผู้ทรงภูมิปัญญาของชนเผ่าปกาเกอะญอ  

แม้จะเติบโตในวัฒนธรรมและระบบนิเวศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งสองกลับมีความคิดที่สอดคล้องคล้ายคลึงกัน เป็นความคิดที่ท้าทายทัศนะกระแสหลักที่มนุษย์ใช้มองโลกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

แนวคิดท้าทายที่ว่านี้ อาร์น เนสเรียกมันว่า นิเวศวิทยาแนวลึก หรือ Deep Ecology

ที่ว่าเป็นแนวลึกก็เพราะเป็นทัศนะที่เน้นความเข้าใจที่ลุ่มลึกต่อชีวิตและธรรมชาติ ลุ่มลึกและละเอียดอ่อนอย่างที่ทำให้นิเวศปรัชญานี้เชื่อมโยงไปสู่มิติทางสังคมวัฒนธรรม และมิติทางจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้ง

อาร์น เนสเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์กับโยฮัน กัลตุง นักสันติวิธีและนักต่อสู้เพื่อสันติภาพที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งสองมีแนวคิดที่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่วัยหนุ่มและได้ร่วมกันเขียนเรื่องราวของมหาตมคานทีเป็นหนังสือชื่อ Gandhis politiske etikk หรือ จริยมรรคของคานที เพื่อเผยแพร่ในยุโรป ตั้งแต่เมื่อทั้งคู่อายุเพียงยี่สิบปีเศษ

ความยึดมั่นในอุดมคติเรื่องสันติวิธีทำให้โยฮัน กัลตุงนั้นถึงกับต้องติดคุก เพราะเขาไม่ยอมเข้าร่วมเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2

เขาปฏิเสธที่จะออกรบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนที่อ่อนแอหรือเขลาขลาด แต่เพราะเขาไม่คิดว่าสงครามจะเป็นหนทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

กัลตุงยอมติดคุกแทนที่จะจับปืนขึ้นประหัตประหารชีวิตของคนอื่น คนที่เขาไม่เคยแม้แต่จะรู้จัก

ความกล้าหาญและจริยธรรมแบบเดียวกันนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในชีวิตและงานของอาร์น เนส เขาไม่เพียงแต่เสนอแนวคิดที่ท้าทายนิเวศวิทยากระแสหลักซึ่งเขาวิจารณ์ว่าเป็นแนวความคิดแบบตื้น ๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตของระบบนิเวศเท่านั้น

แต่เขายังได้ดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย ให้เห็นเป็นแบบอย่างอีกด้วย เป็นชีวิตที่ไม่เบียดเบียนตนเองและสิ่งแวดล้อม

แม้เขาจะมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยออสโล และเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุโรป แต่อาร์น เนสกลับมีความเป็นอยู่เหมือนฤาษี เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบ้านเรียบง่ายบนเทือกเขาแห่งหนึ่ง

นาน ๆ ทีจึงจะมีคนเห็นเขาเดินทางลงจากภูเขาเพื่อพบปะกับผู้คนและแลกเปลี่ยนความคิดในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการภาวนาและการมีชีวิตที่ใกล้ชิดธรรมชาติ

อาร์น เนสปฏิเสธแนวคิดกระแสหลักในตะวันตกที่มีรากฐานมาจากคริสต์ศาสนาและความอหังการ์ของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ถือว่ามนุษย์เป็นนายของธรรมชาติ มีอภิสิทธิ์ที่จะเข้าไปจัดการหรือแทรกแซงธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการและประโยชน์ของตน

เขาได้เสนอหลักการนิเวศแนวลึกที่ถือว่าความหลากหลายและความบริบูรณ์ของชีวิตและธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าโดยตัวของมันเอง

โดยคุณค่าแห่งชีวิตและธรรมชาตินี้มีอยู่โดยไม่ขึ้นต่อประโยชน์ใช้สอยสำหรับมนุษย์

สำหรับอาร์น เนสแล้ว มนุษย์เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของเครือข่ายอันสลับซับซ้อนพิสดารของระบบนิเวศน์ มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยปราศจากธรรมชาติอันเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้สรรพชีวิตเจริญงอกงาม

ความคิดที่ว่ามนุษย์สามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์นั้นเป็นความเขลาที่รังแต่จะสร้างหายนะให้กับระบบนิเวศ

นิเวศวิทยาแนวลึกถือว่าพลังที่ดำรงอยู่ในชีวิตและธรรมชาตินั้นเป็นพลังอันศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์ควรมีความศรัทธานอบน้อม ไม่ใช่นอบน้อมแบบศรัทธาบอดที่เกิดจากความกลัวหรือความไม่รู้

แต่นอบน้อมเพราะตระหนักถึงความยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ของธรรมชาติที่รังสรรค์สรรพสิ่งอันสลับซับซ้อนให้กอบเกื้อเอื้ออาศัยต่อกันและกันได้อย่างวิจิตรพิสดาร

ตระหนักและเห็นถึงความยิ่งใหญ่และความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติแม้ในชีวิตที่เล็กและไร้ค่า ไร้ประโยชน์ใช้สอยอย่างปลาซิว และหญ้าเจ้าชู้

พอตีจอนิ โอเดเชา เป็นปราชญ์ชาวบ้านชาวปกาเกอะญอที่ลุ่มลึกอย่างที่นักวิชาการสมัยใหม่ต้องยอมรับและต้องทึ่งกับความคิดอ่านที่แหลมคม พื้นฐานวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอที่เคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติทำให้พอตีจอนิ มองเห็นชีวิตและสรรพสิ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สะท้อนความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

พอตีจอนิบอกว่าชีวิตและธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ แม้แต่ชีวิตเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติก็ยังมีความวิจิตรมหัศจรรย์ยิ่งไปกว่าสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ว่าเลอเลิศ

ท่านยกตัวอย่างให้เราพิจารณาปลาซิวตัวเล็ก ๆ ที่แหวกว่ายอยู่ในลำธาร ประคองตัวอยู่กลางสายน้ำและว่ายพลิ้วพลิกหลีกหลบก้อนหินและกิ่งไม้

ปลาซิวเล็ก ๆ นี้หากพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งแล้วจะเห็นได้ไม่ยากว่ามันมีความวิจิตรมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ยิ่งใหญ่กว่ายานอวกาศลำมโหฬารที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างเปรียบไม่ได้

เป็นชีวิตที่วิจิตรบรรจงอย่างที่มนุษย์ไม่มีวันลอกเลียนแบบได้

การเดินทางไปในที่ต่าง ๆ และการได้รู้เรื่องราวของผู้คนในหลากหลายท้องถิ่นทำให้พอติจอนิ อดเป็นห่วงกังวลกับความเสื่อมเสียของระบบนิเวศไม่ได้ ความรู้ความเข้าใจในนิเวศวัฒนธรรมอย่างชาวปกาเกอะญอของท่านทำให้เรามองสรรพสิ่งรอบตัวด้วยทัศนะใหม่

นิเวศปรัชญาของพอตีจอนิเป็นที่สนใจและมีการถ่ายทอดพิมพ์เป็นบทความ งานวิจัยและหนังสือหลายเล่ม เล่มสำคัญได้แก่หนังสือชื่อ ป่าเจ็ดชั้น ปัญญาปราชญ์ที่ทำให้พอตีจอนิเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เมื่อมีคนรู้จักมากขึ้นก็มีผู้คนแวะไปเยี่ยมเยือนท่านและมาศึกษาดูงานถึงที่บ้านมากขึ้น พอตี จอนิ เล่าให้ฟังว่าไปพบเห็นปัญหาเกี่ยวกับระบบนิเวศหลายเรื่อง

เรื่องที่น่าเป็นห่วงเรื่องหนึ่งก็คือปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า

ท่านเห็นการใช้สารเคมีเหล่านี้จนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบกว้างขวาง ยาฆ่าหญ้าที่ถูกฉีดพ่นบนพื้นดินการเกษตรได้ทำให้หญ้าต่าง ๆ ที่เคยปกคลุมพื้นดินตายไปหมดเหลือเป็นดินเปลือยเปล่ารอให้ลมและน้ำกัดเซาะละลายผิวดินไป

หญ้าต่าง ๆ ถูกนิยามว่าเป็นวัชพืชและถูกกำจัดไม่ต่างไปจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

“เหมือนกับว่า คนเกลียดหญ้าพวกนี้ อย่างเช่น หญ้าแห้วหมูหรือหญ้าเจ้าชู้ คนเกลียดมันเพราะมันไม่มีประโยชน์กับเรา จนต้องใช้ยาพิษไปฆ่ามันจนตายหมด ถึงมันจะไม่มีประโยชน์กับเรา แต่มันก็มีประโยชน์กับพืชหรือสัตว์อื่น และเป็นประโยชน์กับธรรมชาติ”

ความเป็นห่วงว่าหญ้าเจ้าชู้จะถูกทำลายมากเกินไปทำให้ พอตี จอนิต้องไปหาหญ้าเจ้าชู้มาปลูกไว้ที่ทางเข้าบ้าน

“ปลูกไว้ตรงปากทางเข้าบ้านนั้นแหละ คนเขามาเยี่ยมมาดูงานกลับออกไปจะได้มีหญ้าเจ้าชู้ติดปลายผ้าปลายกางเกงกลับไปบ้าน ไปเจริญเติบโตและงอกงามในที่ต่าง ๆ สงสารมัน ไม่อยากให้มันสูญพันธุ์”

สำหรับพอตีจอนิแล้วชีวิตมีคุณค่าโดยตัวของมันเอง ไม่ได้อยู่ที่มันมีประโยชน์ใช้สอยกับเราหรือไม่

หญ้าเจ้าชู้นั้นถูกมนุษย์คุกคามทำลาย ถูกคุกคามทำลายเพราะมันไม่มีประโยชน์ใช้สอยให้กับเรา หรือจะว่าไปแล้ว หญ้าเจ้าชู้ถูกคุกคามทำลายเพราะวิธีคิดที่มีมนุษย์ถือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็ได้

ถ้าเรายอมรับหลักการข้อหนึ่งของนิเวศวิทยาแนวลึกที่อาร์น เนสเสนอไว้ว่าผู้ที่เห็นด้วยกับปรัชญานิเวศแนวลึก ย่อมมีพันธกิจไม่โดยตรงก็โดยอ้อมในการช่วยกันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น โจทย์สำคัญของพันธกิจการสร้างนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศก็คือ

ทำอย่างไรที่จะทำให้สังคมมนุษย์มีจิตสำนึกอย่างใหม่

เป็นจิตสำนึกอย่างใหม่ที่มีความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ

อ่อนโยนแม้กับชีวิตเล็ก ๆ อย่างปลาซิว และอ่อนน้อมต่อธรรมชาติแม้กับพืชเล็ก ๆ ที่ไร้ค่าอย่างหญ้าเจ้าชู้

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ คิดสลับขั้ว
วารสารรากแก้ว
ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ เมษายน-พฤษภาคม ๒๕๔๙
จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน