รถเข็น (0 ชิ้น)
 
ความงมงาย ประชาธิปไตยตัวแทน กับอาการคลื่นเหียนทางการเมือง

เขียนโดย admin
จันทร์ 22 ตุลาคม 2550 @ 17:00


ผมจำได้ว่า สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ เรามักถูกสอนย้ำอยู่เรื่อยๆ ว่าว่าปัญหาสุขภาพของชาวบ้านในชนบทนั้นมีส่วนสำคัญเกิดจากความเชื่อผิดๆ หรือความงมงายในเรื่องไสยศาสตร์  

ครูแพทย์บางท่านยกตัวอย่างเรื่องผู้ป่วยที่เป็นโรคมาเลเรียขึ้นสมอง แต่ชาวบ้านคิดว่าผีเข้า พากันไปไล่ผี กว่าจะมาโรงพยาบาลก็อาการหนักเกินกว่าจะเยียวยาได้ 

นักเรียนแพทย์สมัยผมจึงมักมีทัศนะเชิงลบเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพร การอยู่ไฟ การนวดหรือการรักษาด้วยพิธีกรรมต่างๆ ว่าเป็นเรื่องงมงาย เพราะไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ เป็นความเชื่อผิดๆ ที่ไม่มีเหตุผล

อาจเป็นเพราะเรามักเห็นความไม่มีเหตุผลของคนอื่น หรือไม่ก็เพราะเรามักไม่ยอมรับว่า หลายๆ กรณีเราก็อาจเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเหตุมีผล

เราจึงมักคิดว่าความงมงายเป็นคุณสมบัติของคนอื่น

ในเชิงมานุษยวิทยา จารีตความรู้และระบบวัฒนธรรมมักมีตรรกะภายในที่เป็นระบบเหตุผลที่ “คนใน” ใช้คิดหรือใช้อ้างอิง ส่วนคนนอกก็อาจเห็นเป็นเรื่องงมงาย ไร้เหตุผลได้

เช่น คนเมืองที่มีการศึกษามาอย่างดีก็อาจมีเรื่องความเชื่อที่งมงายอยู่มากมายได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความงมงายในเรื่องสินค้าแบรนด์เนม งมงายในโรงเรียนนานาชาติ งมงายในเทคโนโลยีว่าเป็นทางออกของทุกเรื่อง เป็นต้น

การมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องงมงายหรือไม่เป็น จึงไม่ใช่เรื่องตายตัวที่ถูกท้าทายไม่ได้ และบางทีความงมงายที่เรามักคิดว่าเป็นคุณสมบัติของคนอื่น ในบางโอกาสก็อาจมีเหตุการณ์ที่ช่วยเตือนสติให้เราเห็นถึงความงมงายของเราก็เป็นไปได้เหมือนกัน

หลายปีก่อน ผมได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับความงมงายของคนเมืองจากมุมมองของชาวบ้านว่า ครั้งหนึ่งมีคนเมืองที่ทำงานในชนบทขับรถพาชาวบ้านเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ กว่าจะถึงกรุงเทพฯ ก็เป็นเวลากลางดึก เมื่อรถที่นั่งมาด้วยกันแล่นมาถึงสี่แยกก็พอดีติดสัญญาณไฟแดง คนเมืองเห็นสัญญาณไฟแดงก็หยุดรถ

ชาวบ้านถามว่า หยุดรถทำไม คนเมืองเห็นว่าชาวบ้านไม่เคยรู้จักสัญญาณจราจรจึงอธิบายให้ฟังว่า เมื่อรถมาถึงสี่แยก หากติดสัญญาณไฟแดง เราจะต้องหยุดรถจนกว่าจะมีไฟเขียวจึงจะไปได้ ชาวบ้านถามต่อว่า ไฟเขียวไฟแดงเขามีไว้ทำไม

นักพัฒนาตอบว่า สัญญาณไฟจราจรเป็นระบบควบคุมรถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ให้รถด้านที่ติดไฟแดงจอดรอและด้านที่เป็นไฟเขียวผ่านไปได้สลับกัน เพื่อจะได้ไม่ต้องชนกัน

“แต่นี่มันก็กลางดึก จะไปจอดรอทำไม ถนนก็ว่าง รถสักคันก็ไม่มีวิ่ง ถึงขับออกไปก็ไม่มีรถที่ไหนให้ชน”
ถ้าคิดอย่างนี้ จะเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นความงมงายในไฟเขียวไฟแดงก็น่าจะได้

ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ความเชื่อเรื่องไฟเขียวไฟแดง หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนและเป็นการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้งหนึ่งนั้น ในบริบทปัจจุบันความคิดเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นความเชื่อที่งมงายไร้เหตุผลที่สุดอันหนึ่ง

เป็นความงมงายเรื่องประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่คิดฝันเอาเองว่าอะไรๆ คงจะดีขึ้นถ้าเรามีการเลือกตั้ง

ในระยะหลังมานี้ ผมรู้สึกว่าตัวเองมีอาการคลื่นเหียนทางการเมืองและยังได้รับรู้ว่าอาการที่ว่านี้ไม่ได้เกิดกับตนเองเท่านั้น แต่ภาวะการแพร่ระบาดของอาการคลื่นเหียนทางการเมืองนี้เป็นไปอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่เพื่อนฝูง คนรู้จัก ตามเว็ปไซด์ต่างๆ หรือตามข้อความสั้นๆ ที่ผู้ชมทางบ้านส่งไปออกตามรายการข่าวต่างๆ

เป็นไปได้ว่าอาการคลื่นเหียนทางการเมืองที่ว่านี้จะมีสาเหตุสำคัญมาจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นพิษ

เหมือนกับเวลาที่อาหารเป็นพิษ ที่เรามักเกิดอาการคลื่นไส้ ยิ่งถ้ามีของเสียหรือของเป็นพิษหมักหมมคั่งค้างอยู่ในระบบทางเดินอาหารของเรามาก ก็ยิ่งจะมีอาการคลื่นไส้มากจนอยากอาเจียน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า อยากอ้วก

และเมื่อคลื่นไส้เต็มที่ ร่างกายของเราก็มักจะขับสารพิษออกจากระบบร่างกายของเราด้วยการอาเจียน หรือที่เรียกว่า รากแตกนั่นเอง

ในทำนองที่คล้ายกัน อาการคลื่นเหียนทางการเมืองที่ระบาดอยู่ทุกวันนี้ดูไปแล้วในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากการเมืองแบบตัวแทนที่เน่าหมักหมมอยู่นานจนส่งกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงและแพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวาง พอเรารับเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านหนังสือพิมพ์หรือข่าวโทรทัศน์จึงเกิดอาการคลื่นเหียนและบางครั้งอยากอาเจียนอย่างช่วยไม่ได้

อาการคลื่นเหียนทางการเมืองก็เป็นเช่นเดียวกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน คือเป็นสัญญาณและเป็นกลไกธรรมชาติที่เตือนให้เรารู้ว่ามีสิ่งผิดปกติ

ในทางการแพทย์ อาการเป็นสิ่งบ่งแสดงที่ใช้สำหรับวินิจฉัยโรคได้ และสำหรับผมอาการคลื่นเหียนทางการเมืองนี้ไม่ได้เกิดจากการเมืองที่เน่าเหม็นและเป็นพิษเท่านั้น

แต่ยังเกิดจากภูมิคุ้มกันทางร่างกายของเราที่อ่อนแอจากความงมงายในประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ทำให้เราไม่มีทางออกอื่น ได้แต่กล้ำกลืนทนกลิ่นการเมืองน้ำเน่าอย่างไม่มีทางเลือก

ความงมงายในประชาธิปไตยแบบตัวแทนนี้เป็นความหลงผิดที่คิดว่าความหวังของเราอยู่ที่การมีอัศวินม้าขาวที่จะมาเข่นฆ่าเหล่ามารร้ายและปราบทุกข์เข็ญให้หมดไป

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นความงมงายที่ไม่ได้แตกต่างกันนักระหว่างชาวบ้านกับชาวเมือง

เพียงแต่ชาวบ้านเขาได้เจออัศวิน (หน้าเหลี่ยม) ของเขาแล้ว ส่วนเราชาวเมืองยังหาอะไรไม่เจอนอกจากความเลอะเทอะเละเทะของกลุ่มก๊วนทางการเมืองที่เห็นขี้หน้าก็รู้แล้วว่าไม่สามารถฝากอนาคตของบ้านเมืองไว้ได้

ถ้าจะคิดในแง่ดีก็คงจะหวังว่าอาการคลื่นเหียนทางการเมืองที่ระบาดอยู่นี้จะช่วยปลุกให้สังคมไทยเลิกงมงายอยู่กับการฝากความหวังไว้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทนเพียงอย่างเดียว

และเลิกฝันลมๆ แล้งๆ ว่าสังคมไทยจะก้าวไปสู่ความเป็นธรรม เท่าเทียมและความอุดมสมบูรณ์ หรือความผาสุกได้จากการเมืองที่ผูกขาดอยู่ในแวดวงนักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ ที่กำลังเล่นปาหี่และกำลังหาทางผสมพันธุ์กันอย่างไม่อายผีสางเทวดาอยู่ในขณะนี้


คิดสลับขั้ว
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน