รถเข็น (0 ชิ้น)
 
ภาษา การเลี้ยงลูก กับการรับรู้โลก

เขียนโดย admin
อาทิตย์ 29 เมษายน 2550 @ 17:00


ผมจำได้ว่า เมื่อครั้งลูกชายของผมเพิ่งอายุได้ 2-3 ขวบ เวลาผมหรือภรรยาเล่นกับลูก ลูกชายที่กำลังเริ่มหัดพูดของผมมักจะถามคำถามซ้ำๆ ว่า “นี่อะไรอ่ะ ๆ” พร้อมกับชี้นิ้วไปที่อะไรต่อมิอะไรที่อยู่รอบบ้านโดยไม่มีจุดหมาย 

ตามประสาพ่อแม่ก็จะคอยตอบและพูดคุยกับลูกที่กำลังอยากรู้อยากเห็น ผมจำได้ว่าผมจะตอบไปเรื่อยแล้วแต่ว่าเขาจะชี้ไปทางไหน 

“นี่โต๊ะลูก... นี่แจกัน... นี่ดอกไม้... นี่ปากกา... นี่แว่นตา... ”

ความจริงที่ลูกถามอย่างนั้นอาจไม่ได้เกิดจากความอยากรู้เหมือนที่เราคิดก็ได้ เพราะในทางปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่ปรากฏต่อการรับรู้ของมนุษย์แล้ว เด็กเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มรู้ภาษาอย่างลูกผมนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะช่วยให้เขา “มองเห็น” ข้าวของเป็นชิ้นๆ อย่างที่เรามอง สิ่งต่างๆ ทั้งหลายแหล่อาจถูกมองเห็นรวมเป็นสิ่งหนึ่งอันเดียวกันแทนที่จะเป็น “ของ” หรือ Thing ที่ดำรงสถานภาพแบบเอกเทศและถูกรับรู้อย่างอิสระเป็นชิ้นๆ

อย่างเช่น โต๊ะ + แจกัน + ดอกไม้ที่ใส่ในแจกันวางอยู่บนโต๊ะนั้น อาจถูกมองเป็นสิ่งเดียวต่อเนื่องโดยไม่มีการแยกแต่ละสิ่งออกจากกัน เพราะเด็กเล็กๆ ยังไม่ได้รับรู้ หรือเรียนรู้ที่จะเห็นเส้นแบ่งที่แยกของต่างๆ เหล่านี้ออกจากกันได้

เป็นไปได้ว่า เด็กเล็กๆ อย่างลูกผมอาจพูดอะไรโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นการตั้งคำถาม ในขณะที่เรากลับเห็นว่าเขาถามคำถามซึ่งเราต้องพยายามบอกคำตอบกับเขา

บางทีลูกถามและชี้ไปที่ผนังว่างๆ เราก็ไม่รู้ว่าลูกเขาชี้อะไร แต่เราก็ต้องหาทางตอบ เช่นตอบไปว่า นี่ฝาบ้าน ซึ่งจะตอบว่า นี่ทิศเหนือ หรือ นี่สีที่ทาผนังไว้ หรือนี่เป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนที่แตกร้าวเพราะผู้รับเหมาทำงานชุ่ยๆ ก็ตอบได้

พูดง่ายๆ เด็กชี้นิ้วไปมั่วๆ แต่เราจะมองหา “ของ” ที่จะตอบเป็นคำตอบให้เขา

เพราะคิดว่าลูกกำลังอยากรู้อยากเห็น ซึ่งในกระบวนการนี้เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้และรู้จักข้าวของต่างๆ

แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้เมื่อตอนที่เขาหัดพูดนี้ มีมากกว่าการเรียนรู้คำศัพท์และภาษา

เพราะในขณะที่เราสอนให้ลูกรู้จักสิ่งต่างๆ รอบตัวนั้น เราก็กำลังทำการตัดแบ่งปรากฏการณ์ที่เป็นความต่อเนื่องออกเป็นชิ้นเป็นส่วนแล้วสอนให้เด็กมองเห็นและรับรู้โลกของความจริงตามที่ถูกแบ่งถูกซอยออกเป็นชิ้นเป็นส่วนนั้น เด็กๆ จึงได้รับวิธีการมองโลกจากปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ไปโดยปริยาย

จากโลกที่เคยต่อเนื่องเชื่อมโยงกันแบบไร้ตะเข็บรอยต่อใดๆ กลายเป็นโลกที่ถูกซอยด้วยภาษาจนเกิดสิ่งต่างๆ เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือ การตัดแบ่งโลกของสี

ในโลกธรรมชาตินั้นสีมีลักษณะเป็นคลื่นความถี่ของแสงที่ต่อเนื่องที่เรียกกันว่าสเปคตรั้มของแสง (Spectrum) หรือแถบความถี่ของคลื่นแสงที่ต่อเนื่องจากสีแดงไล่เรียงไปจนถึงสีม่วงเหมือนในรุ้งกินน้ำ แต่เนื่องจากสีเหล่านี้ไล่ระดับโดยที่มีความแตกต่างกันทีละน้อยมากๆ จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าสีแดงเริ่มที่ไหนและไปสิ้นสุดที่ไหนก่อนที่จะเป็นสีแสด

เอาเข้าจริงๆ จะว่าสีรุ้งทั้งเจ็ด คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ไม่มีอยู่จริงก็ได้ เพราะไม่รู้สีไหนเริ่มตรงไหนหรือตรงจุดไหนที่เป็นสีบริสุทธิ์ของแต่ละสี แต่ที่เราเรียกสีรุ้งได้ว่ามีสีต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นการสมมติหรือบัญญัติ (Constructed) ขึ้นเพื่อให้เราสื่อสารและเข้าใจความหมายร่วมกันได้ระดับหนึ่ง

ในทางปฏิบัติ สีที่เคยต่อเนื่องกลืนกันแบบไร้รอยต่อ จึงถูกตัดแบ่งหรือซอยแยกออก แล้วเรียกแต่ละจุดที่ซอยออกนั้นด้วยชื่อที่ต่างกันว่า สีเขียว สีเหลือง หรือสีม่วง

ชื่อเรียกสีเหล่านี้กลายเป็นแนวคิดที่กำกับการมองของเรา เพราะเราจะมองเห็นและพูดถึงสีต่าง ๆ ก็ด้วยการใช้สีที่สังคมสมมติขึ้นจากการแบ่งซอยแถบสีออกเป็นช่วงนี้เป็นสิ่งอ้างอิง

เรียกว่า เรามองสีด้วยสายตาที่ถูกกำกับจากการตัดแบ่งโลกของสีออกเป็นช่วงๆ

ความจริงของโลกในมิติอื่นๆ ก็ถูกตัดแบ่งเป็นช่วง หรือเป็นชิ้นเป็นส่วนไม่ต่างไปจากโลกของสี พวกโครงสร้างนิยม หรือ Structuralism นั้นถือว่ามนุษย์มีโครงสร้างระบบวิธีคิดที่เกิดจากกระบวนการเช่นว่านี้ และสิ่งที่ถูกซอยถูกแบ่งเหล่านี้จะมีคุณค่าและความหมายเฉพาะของมันขึ้นมาก็ด้วยการไปสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ จนเกิดเป็นการจัดหมวดหมู่ของสิ่งต่างๆ ขึ้น

การจัดหมวดหมู่นี้มีวิธีการพื้นฐานที่สุดคือการจัดเป็นคู่ตรงข้ามกัน และคู่ตรงข้ามนี้เองที่เป็นที่มาของความหมายต่างๆ เพราะแต่ละคู่จะแฝงระบบคุณค่าจากคู่ตรงข้ามหลักๆ ไว้ด้วยเสมอ เช่น ดี-ชั่ว ชาย-หญิง สะอาด-สกปรก หรือพวกเรา-พวกเขา เป็นต้น

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ อึกับฉี่จึงเป็นของสกปรก ห้ามแตะต้อง ส่วนตุ๊กตากับดอกไม้เป็นของดี ให้กอดหรือให้หอม

โลกจึงถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยชิ้นส่วนที่เราตัดซอยจากปรากฏการณ์ และคุณค่าที่เราอุปโลกน์ขึ้นให้กับชิ้นส่วนเหล่านั้น ซึ่งโครงสร้างความคิดที่เกิดจากชิ้นส่วนที่สัมพันธ์กันอย่างตายตัวนี้เองที่กลายเป็นกรอบจำกัดที่ทำให้เรายึดติดและคิดต่างออกไปไม่ได้

ผมเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้ามีลูกอีกสักคน จะลองเลี้ยงแบบใหม่ดู คือถ้าลูกถามเราว่า นี่อะไร ๆ แทนที่เราจะหาคำตอบแบบเป็นชิ้นเป็นส่วนมาตอบ จะลองตอบว่า นี่คือความงาม... นี่คือความว่าง... นี่คือความต่อเนื่อง หรือนี่คือความเป็นเอกภาพในท่ามกลางความหลากหลาย

พาลูกไปนั่งรถเล่น ก็บอกว่า เป็นการเคลื่อนไหวผ่านความว่างไปอย่างไร้จุดหมาย

ถ้าเจอตำรวจตั้งด่านตรวจก็บอกลูกว่า โอ้... ความต่อเนื่องกำลังถูกอำนาจที่น่าสงสัยทำให้หยุดชะงักลง

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ถ้าเลี้ยงลูกสอนลูกแบบนี้ทุกวัน โตขึ้นลูกจะกลายเป็นคนบ้าหรือว่าจะเป็นอัจฉริยะกันแน่

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
บทความคอลัมน์คิดสลับขั้ว
ตีพิมพ์ในนิตยสารเวย์ ฉบับเดือนเมษายน 2550



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน