รถเข็น (0 ชิ้น)
 
สันติ-สุขภาวะ: สันติวิธีกับการจัดการความขัดแย้งในระบบสุขภาพ

เขียนโดย admin
พุธ 23 พฤษภาคม 2550 @ 17:00


โดย โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 

โดยทั่วไป เมื่อพูดถึงความขัดแย้ง ความรุนแรงและสันติวิธีเรามักไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานในแวดวงสุขภาพและการแพทย์เท่าไรนัก โดยเฉพาะคำว่าสันติหรือสันติภาพนั้น ดูจะมีความหมายไปในลักษณะของการไม่มีสงครามมากกว่าอย่างอื่น  

ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคำว่า สันติภาพเป็นคำที่ถูกใช้คู่กับคำว่าสงครามจนทำให้มีความหมายเกี่ยวโยงกัน 

แต่หากเราพิจารณาให้ลึกก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า สันติภาพกับสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง เพราะสุขภาพไม่เพียงแต่มีหลายมิติแต่ยังเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างแยกไม่ออก จนเราอาจกล่าวได้ว่า สุขภาพดีเป็นผลลัพท์ของการมีสังคมที่ดี คือเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขที่มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ซึ่งก็คือสุขภาวะทางสังคมนั่นเอง

ในแง่นี้ สันติภาพและสุขภาพจึงเป็นเรื่องเดียวกันและแยกจากกันไม่ได้

สถานการณ์ปัจจุบัน ความขัดแย้งและความรุนแรงแพร่ขยายทวีขึ้นในสังคมทุกระดับอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เราจึงพบเห็นความขัดแย้งและความรุนแรงในแทบทุกพื้นที่ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว การกระทำรุนแรงต่อเด็ก ต่อผู้หญิง ความรุนแรงในโรงเรียนที่เพิ่มขึ้นมากและมีรูปแบบที่ไม่เคยเห็นปรากฏมาก่อน เช่น กรณีคลิปวิดีโอที่เด็กนักเรียนผู้หญิงตบตีกันอย่างรุนแรง หรือแม้แต่ความรุนแรงตามท้องถนนที่ผู้ขับขี่ทำร้ายร่างกายกันเพียงเพราะการกระทบกระทั่งกันจากการขับขี่รถ และความรุนแรงบนพื้นที่สื่อ เช่น ในสิ่งพิมพ์ ในรายการโทรทัศน์ เกมคอมพิวเตอร์ หรือบนอินเทอร์เนท รวมไปถึงความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดจากปัญหาทางการเมืองที่ทำให้สังคมไทยแบ่งพวกเป็นขั้วตรงข้ามและการก่อการร้ายที่มีการทำร้ายกันอย่างรุนแรง จนกล่าวได้ว่าความรุนแรงได้กลายเป็นโรคระบาดอย่างใหม่ที่เกิดขึ้นและแพร่ไปในสังคมอย่างกว้างขวาง

ในระบบบริการทางการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน ความขัดแย้งและความรุนแรงในระบบงานสุขภาพมีเพิ่มมากขึ้น มีเรื่องร้องเรียนและการฟ้องร้องเกิดขึ้นมากกว่า 600% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา หลายกรณีกลายเป็นคดีความในชั้นศาลและก่อให้เกิดความทุกข์และความสิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากรอื่นๆ ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แพทย์จำนวนหนึ่งต้องทำงานด้วยความกลัวและต้องซื้อประกันเพื่อคุ้มครองตนเองจากการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากความผิดพลาดหรือความไม่พอใจของผู้ป่วย

ปัญหาความขัดแย้งที่เพิ่มทวีมากขึ้นจนเป็นวิกฤตในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อนที่ยากต่อการแก้ไขด้วยคำตอบสำเร็จรูป เพราะมีทั้งเหตุปัจจัยในเชิงระบบ ความซับซ้อนของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ความคาดหวังของสังคมต่อระบบงานทางการแพทย์ ระบบทุนนิยมและการแพทย์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนความสัมพันธ์เชิงอำนาจและความไว้วางใจกันระหว่างวิชาชีพและประชาชน

นอกจากนั้น ความขัดแย้งและความรุนแรงยังเกิดมากขึ้นระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วยกันเองอีกด้วย ระบบองค์กรและการจัดการสมัยใหม่ ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น การปฏิรูปหรือความเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำและอำนาจต่อรองที่แตกต่างกันระหว่างวิชาชีพ

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเหตุปัจจัยให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ง่ายภายในระบบงานทางการแพทย์การสาธารณสุข ซึ่งหากไม่สามารถสร้างกลไกและการเรียนรู้เพื่อคลี่คลายปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ ความขัดแย้งที่สะสมทวีมากขึ้นก็อาจนำไปสู่วังวนที่เพิ่มความรุนแรงที่กระทำต่อกันและขยายวงความขัดแย้งจนบั่นทอนศักยภาพและประสิทธิภาพขององค์กรได้

ความสลับซับซ้อนของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับระบบงานทางการแพทย์ทำให้การเรียนรู้เพื่อการจัดการความขัดแย้งมีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้น

กลวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้นอกเหนือจากจะต้องปรับโครงสร้างระบบงานทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและสามารถให้บริการที่มีคุณภาพและมีความละเอียดอ่อนแล้ว การสร้างทักษะในการจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการสันติวิธีจะเป็นหลักประกันที่ช่วยระงับและคลี่คลายปัญหาอย่างสันติ

ความจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งก็คือ เราจะไม่สามารถขจัดความขัดแย้งให้หมดไปได้ แต่การจัดการความขัดแย้งที่ไม่เหมาะสมอาจสร้างปัญหาที่รุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีล้วนแตกต่างกันและไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้แก้ปัญหาได้อย่างตายตัว เราจึงไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าปัญหาที่เราเผชิญอยู่นั้นจะคลี่คลายได้อย่างไร

มหาตมะ คานธีได้ย้ำถึงความสำคัญของการใช้ท่าทีที่ถูกต้องต่อการจัดการความขัดแย้งว่า ในเมื่อเรายังไม่รู้ว่าคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร จึงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะใช้อำนาจหรือพละกำลังหักหาญให้เป็นไปตามความคิดของเรา การเรียนรู้เรื่องสันติวิธีจึงเป็นการเรียนรู้ที่จะให้โอกาสแก่วิถีแห่งสันติธรรมที่แม้ว่าอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกปัญหาได้สำเร็จ แต่จะมีความสำเร็จประการหนึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการสันติวิธีเสมอ
คือความสำเร็จของการไม่ผลิตซ้ำความรุนแรงให้เพิ่มมากขึ้น

ถ้าเราเชื่อว่าปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีคิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุของปัญหานั้น คงถึงเวลาที่เราต้องเรียนรู้และให้โอกาสแก่สันติวิธีแล้ว

ขอให้การเรียนรู้เรื่องสันติวิธีและการจัดการความขัดแย้งในระบบสุขภาพนำเราไปสู่สังคมแห่งสันติภาพและสุขภาพ หรือสังคมสันติ-สุขภาวะ

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ส่วนหนึ่งของคำนำ หนังสือ สันติ-สุขภาวะ
จัดพิมพ์โดย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ฟรี ที่สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ
โดยส่ง อีเมล์ ติดต่อมาพร้อมชื่อที่อยู่ ทางสำนักวิจัยจะจัดส่งให้ฟรี



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน