รถเข็น (0 ชิ้น)
 
บ้านนี้อยู่แล้วรวย ศาสนาพุทธ กับชุดไทย

เขียนโดย admin
จันทร์ 16 กรกฎาคม 2550 @ 17:00


ระยะนี้ ผมมีโอกาสลงพื้นที่ทำงานวิจัยในชุมชนหลายแห่งย่านชานเมืองรอบๆ กรุงเทพฯ ตามประสานักมานุษยวิทยาที่มักสนใจและตั้งคำถามแม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ธรรมดาๆ ทำให้เห็นได้บ่อยๆ ว่า สิ่งที่เป็นอาจไม่ใช่ที่ปรากฏให้เห็นภายนอกก็ได้  

ในชุมชนมีป้ายเยอะครับ หลายบ้านมีป้าย “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” บางบ้านติดป้ายหาเสียงของนักการเมืองท้องถิ่น ป้ายการพัฒนาหมู่บ้านก็มีมาก เช่น ป้ายกองทุนหมู่บ้าน ร้านค้าชุมชน หมู่บ้านโอท็อป หรือวัดพัฒนาตัวอย่าง รวมทั้งหมู่บ้านปลอดยาเสพติด 

แต่ป้ายก็เป็นแค่ป้ายครับ เชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะความจริงมักไม่ได้อยู่ที่ข้อความที่เขียนในป้าย แต่อยู่ที่บริบทแวดล้อมและยังต้องหาข้อเท็จจริงอื่นๆ มาประกอบการตัดสินว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่

บ้านที่ติดป้ายว่า อยู่แล้วรวย ส่วนใหญ่แล้วแทบจะไม่มีที่รวยจริงๆ สักราย ความจริงก็เพราะไม่รวยนั่นแหล่ะจึงต้องดิ้นรนไปหาป้ายมาติด เผื่อว่าอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อที่ปลุกเสกป้ายไว้จะดลบันดาลให้รวยขึ้น มาบ้าง

เนื้อหาในป้ายจึงมักไม่ได้บอกสภาพที่เป็นมากเท่ากับสภาพที่อยากเป็น เรียกว่าอยากเป็นอะไรก็ใช้การป่าวประกาศอุปโลกน์ขึ้นเอาดื้อๆ ทำเหมือนกับว่าพอประกาศแล้วมันก็จะเป็นอย่างนั้นได้

เรื่องการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยคำพูดนี้ จอห์น ออสติน (John L. Austin) นักภาษาและปรัชญาชาวอังกฤษได้เสนอทฤษฎีที่น่าสนใจในหนังสือเรื่อง How to do things with words ว่า บ่อยครั้งที่คำพูดหรือถ้อยคำที่เรากล่าวไม่ได้ทำหน้าที่บรรยายหรือบอกกล่าวส ิ่งที่ดำรงอยู่ แต่เป็นการทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น การตั้งชื่อลูก เมื่อเราบอกกล่าวให้เป็นที่รับรู้ ลูกของเราก็จะมีชื่อดังกล่าวทันที หรือการประกาศคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ล้มรัฐบาล ทักษิณก็ทำให้รัฐบาลหมดอำนาจไปได้

ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดยังทำให้เกิดสิ่งอื่นที่อาจไม่เกี่ยวกับถ้อยกระทงความที่พูดโดยตรง เช่น การพูดว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” อาจก่อให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจและการสร้างภาพพจน์ที่อาจทำให้คนนิ ยมชมชอบหรือเหม็นขี้หน้าก็ได้โดยไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่าใครเป็นพ่อใคร

หรืออย่างบ้านที่ติดป้ายว่าอยู่แล้วรวย คำว่า “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” ก็ไม่ได้เป็นถ้อยความที่บ่งบอกสถานะความเป็นจริงว่าบ้านนี้รวยเท่ากับบอกว่า บ้านนี้ไม่รวย และไม่เพียงเท่านั้น คนที่เห็นป้ายนี้อาจไม่เพียงแต่รู้ว่าเจ้าของบ้านจน แต่ยังคิดต่อไปอีกว่า “บ้านนี้นอกจากจะจนแล้วยังงมงาย” อีกด้วย

คำพูด หรือ ถ้อยความจึงก่อผลทั้งจากใจความที่สื่อบอกเรื่องบางอย่างและยังก่อผลอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาหรือถ้อยความโดยตรง

จะว่าไปแล้วการติดป้าย “บ้านนี้อยู่แล้วรวย” และการบัญญัติให้ “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญมีลักษณะเหมือนกันหลายประการ ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ทั้งสองกรณีเป็นความพยายามที่จะใช้คำพูดทำให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้นเหมือนกัน โดยที่คำพูดหรือป้ายที่ติดนั้นก็ไม่ได้สะท้อนสภาพที่เป็นอยู่เท่ากับสะท้อนค วามอยากเป็น

ต้องเข้าใจก่อนว่า อยากให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาตินั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการเอาถ้อยความว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ไปใส่ในรัฐธรรมนูญเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะคำพูดหรือถ้อยความนั้นทำให้เกิดอะไรมากกว่าแค่สื่อความหมายดื้อๆ ตามเนื้อความ ป้ายบ้านนี้อยู่แล้วรวยทำให้เรารู้ว่าเจ้าของบ้านนั้น นอกจากจะจนแล้วยังคิดว่าชะตาชีวิตของตนขึ้นอยู่กับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ส่วนป้าย “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” นั้นทำให้เรารู้ว่าพุทธศาสนานั้นนอกจากจะถูกละเลยและขาดความมั่นคงแล้ว ยังคิดว่าชะตากรรมของศาสนาขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐ จนต้องหาทางไปพึ่งอำนาจของรัฐธรรมนูญ

เพราะคิดว่ามีอำนาจมากกว่าและจะดลบันดาลหรือแก้ปัญหาเรื่องความเสื่อมศรัทธาต่อศาสนาได้

ข้อความที่จะระบุในรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้บอกเรื่องศาสนาประจำชาติเท่ากับบอกว่ าพุทธศาสนาที่เคยเป็นที่พึ่งและมีสถานะที่ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่อำ นาจการเมือง ปัจจุบันกลับต้องพึ่งการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมและสร้างสถานะที่มั่นคงใ ห้ตนเอง

ป้ายบางอย่างอาจติดได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่จะติดป้าย พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อาจต้องคิดมากสักหน่อย เพราะดีไม่ดี จะเหมือนการเอาศาสนาไปฝากไว้กับรัฐ หวังให้รัฐดูแลส่งเสริม แต่ก็ต้องระวังว่ารัฐอาจดูแลเหมือนกับที่ได้เคยดูแลป่าไม้ ดูแลการศึกษา ปราบคอร์รัปชั่น หรือรักษาแม่น้ำลำคลองสิ่งแวดล้อม ให้เราจนเราเป็นอย่างที่เห็นนี่แล้ว

ถ้าจะเอาอย่างนั้นจริงๆ คงต้องคิดให้ดีว่าจะคุ้มค่าหรือเปล่า กับการเปิดโอกาสให้กลไกรัฐเข้ามาแทรกแซงศาสนาแลกกับการติดป้ายให้เป็นศาสนาป ระจำชาติ เพราะป้ายที่ได้ติดก็อาจเป็นแค่สะท้อนความอยากมากกว่าที่จะทำให้พุทธศาสนากล ายเป็นศาสนาประจำใจคนไทยได้

ปัญหาน่าจะอยู่ที่การทำศาสนาให้สมสมัยและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะมุ่งติดป้ายกำหนดให้เป็นศาสนาประจำชาติ

ไม่อย่างนั้นก็อาจไม่ต่างจากการกำหนดให้ชุดไทยเป็นชุดประจำชาติ

ก็คงกำหนดกันได้ครับ แต่ไม่มีคนใส่หรือเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
บทความคอลัมน์คิดสลับขั้ว
ตีพิมพ์ในนิตยสารเวย์ ฉบับเดือนพถษภาคม 2550



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน