รถเข็น (0 ชิ้น)
 
เสียงกับสุนทรียภาพของการได้ยิน

เขียนโดย admin
ศุกร์ 28 กันยายม 2550 @ 17:00


โดย โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 

ผมรู้จัก ศาสตราจารย์โคโซ ฮิรามัตสึ กับคุณเคอิโกะ โทริโกเอะ สองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นมากว่า 5 ปีแล้ว ผมคิดว่าทั้งสองเป็นคู่สามี ภรรยาที่ศึกษาเรื่องเสียงและโสตนิเวศน์ (Acoustic Ecology) ในมิติที่ลุ่มลึก ละเอียดอ่อนและน่าสนใจที่สุดในโลก  

ขอเริ่มที่สุภาพสตรีคือคุณเคอิโกะ โทริโกเอะก่อน 

คุณเคอิโกะนั้นแต่เดิมเป็นนักสังคีตวิทยา สนใจศึกษาดนตรีในแง่ที่เป็นประสบการณ์ด้านเสียงและกิจกรรมเชิงสุนทรียภาพของมนุษย์ พื้นเพชนชั้นซามูไรของเธอ ทำให้เธอเคารพในระเบียบวินัยแต่ในขณะเดียวกันก็มีความละเมียดสุขุมและเข้าถึงความงดงามในความสงบเรียบง่ายของชีวิตประจำวัน

ผมคิดว่าคงเป็นเพราะเธอเห็นสุนทรียภาพกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกันนี่เองที่ทำให้เธอเปลี่ยนความสนใจจากการศึกษาเรื่องดนตรีมาให้ความสนใจกับสุนทรียภาพของการได้ยินที่กว้างไกลกว่าเสียงดนตรี

โดยเธอเป็นคนแรกๆ ในญี่ปุ่นที่บุกเบิกการศึกษาโลกของเสียงที่เธอเรียกว่า “Soundscape“

เธอบอกว่าสุนทรียภาพของมนุษย์ที่เกี่ยวกับเสียงนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในการฟังดนตรีเท่านั้น เสียงในชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์สุนทรียภาพให้กับชีวิต และเอาเข้าจริง ๆ แล้ว เสียงในชีวิตประจำวันดูจะเป็นประสบการณ์ส่วนใหญ่ของผัสสะการได้ยินของมนุษย์

เธอทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาวิจัย และส่งเสริมประสบการณ์ด้านเสียงที่ทำให้เราอ่อนโยนต่อชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านความละเอียดอ่อนต่อสิ่งที่เราได้ฟังและได้ยิน

สำหรับเธอแล้ว เสียงและการฟังช่วยสร้างความละเอียดอ่อนที่ชดเชยและแก้ไขอคติของสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเห็นมากกว่าผัสสะการรับรู้แบบอื่น ๆ ซึ่งต่างไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น

เธอพูดถึงหนังสือญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า “เยิรเงาสลัว”) ซึ่งกล่าวถึงความงามและสุนทรียภาพของญี่ปุ่นที่เงาและความสลัวของบ้านเรือนเป็นความละเมียด และช่วยเสริมความสงบสำรวมของการใช้ชีวิต ก่อนที่แสงสว่างจ้าและแข็งกระด้างของหลอดฟลูออเรสเซนต์ จะเข้ามาขับไล่ความละเอียดประณีตออกไปให้เหลือแต่ความแผดจ้าส่องสว่างให้ทุกซอกมุมในตัวบ้านเปลือยเปล่าหมดสิ้นซึ่งมนต์เสน่ห์และความน่าพิศวง

บ้านของคุณเคอิโกะอยู่ในโตเกียว เป็นบ้านที่ท้าทายอคติเชิงผัสสะที่ว่านี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่ว่าคุณ เคอิโกะจะไม่สนใจทัศนศิลป์ของบ้าน จะว่าไปแล้วผมคิดว่าบ้านของเธอเป็นบ้านญี่ปุ่นร่วมสมัยที่ผสมผสานความงามสลัวแบบดั้งเดิมของสถาปัตกรรมญี่ปุ่นกับความเป็นอยู่สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

ตัวบ้านเป็นอาคาร 2 ชั้น แต่มีห้องใต้ดินและห้องใต้หลังคาที่ใช้เป็นห้องทำงานและห้องนอนสำหรับแขก ก่อสร้างด้วยไม้เก่าที่คุณเคริโกะรื้อจากบ้านหลังเดิมของคุณพ่อคุณแม่ส่วนหนึ่ง และใช้เวลารวบรวมสะสมจากโรงไม้เก่า ที่เหลือเป็นไม้เก่าของช่างก่อสร้างที่นำมาสมทบ เพราะอยากช่วยสร้างบ้านหลังนี้ให้สมบูรณ์

คุณเคอิโกะใช้เวลาสืบหาช่างไม้พื้นบ้านที่เหลืออยู่ไม่กี่คนในละแวกนั้นของโตเกียว จนในที่สุดได้ช่างไม้ชั้นครูที่เคยก่อสร้างวัดและศาลเจ้าในยุคก่อนหน้าที่เครื่องมือจะมาแทนที่ฝีมือของช่าง

เพราะบ้านที่จะสร้างนี้รื้อมาจากบ้านหลังเดิมของพ่อแม่ ช่างไม้อาวุโสถามคุณเคอิโกะว่าต้องการอนุรักษ์ส่วนไหนของบ้านเก่าเอาไว้เป็นความทรงจำหรือไม่ คุณเคอิโกะบอกว่า ที่อยากเก็บรักษาไว้เป็นความทรงจำที่สุดก็คือ เสียงและโสตประสบการณ์ (Acoustic experience) ของบ้านเก่า

อยากให้เมื่อนั่งหลับตาอยู่ในบ้านใหม่แล้ว ได้ยินเสียงต่าง ๆ ในตัวบ้านเหมือนกับนั่งอยู่ในบ้านหลังเดิม

บ้านหลังใหม่ที่สร้างขึ้นจึงมีเสียงประตูบานเลื่อน เสียงลั่นของดาลประตู เสียงบันได เสียงเอี๊ยดอ๊าดของพื้นบ้าน เสียงทำครัว และเสียงฝ่าเท้าเสียดสีผืนเสื่อตาตามิ เป็นเสียงเดียวกับที่เคอิโกะเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เล็ก

เป็นสุนทรียารมณ์จากเสียงแห่งความทรงจำในโลกอันงดงามของวัยเด็ก

นอกเหนือจากงานประจำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในโตเกียว คุณเคอิโกะทำงานด้านการออกแบบเสียงหรือ Acoustic design ที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้านเสียงที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตและสิ่งแวดล้อม ผลงานชิ้นสำคัญคือการออกแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เมืองทาเคดะ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านของนักดนตรีคนสำคัญชื่อ เรนทาโร ซึ่งได้ประพันธ์ผลงานเพลงสำคัญที่กลายเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของดนตรีญี่ปุ่นหลายชิ้น

การออกแบบพิพิธภัณฑ์นี้ทำกันเป็นทีม คุณเคอิโกะรับผิดชอบการออกแบบที่ทำให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมได้รับประสบการณ์ของเสียงในชีวิตของคีตกวีเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ในการทำงานชิ้นนี้ คุณเคอิโกะต้องค้นคว้าเรื่องราวชีวิตของเรนทาโร ฟังเพลงทุกชิ้น และอ่านเนื้อร้องของทุกเพลงเพื่อสร้างโลกของเสียงขึ้นใหม่ที่บ้านหลังนี้

คลองน้ำเล็ก ๆ ในเขตรั้วบ้านถูกขุดลอกเพื่อให้ลำน้ำไหลผ่านเป็นเสียงน้ำไหลที่บันทึกประวัติเรนทาโรชิ้นหนึ่งกล่าวถึง ป่าไผ่เล็ก ๆ ถูกปลูกขึ้นใหม่เพราะในฤดูร้อนจะมีนกกระจาบจับกลุ่มส่งเสียงร้องเหมือนบทเพลงของเรนทาโรบทหนึ่ง คนที่เข้ามาเที่ยวพิพิธภัณฑ์จะต้องกอดรองเท้าของตนออกและใส่เกี๊ยะไม้ที่ทางพิพิธภัณฑ์เตรียมไว้ให้ เพราะเสียงเกี๊ยะไม้ที่กระทบพื้นเป็นจังหวะนี้เป็นเสียงเดียวกับที่เรนทาโรได้ยินเมื่อครั้งที่เขานั่งประพันธ์เพลงที่นี่

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงให้ประสบการณ์ทางโสตที่เชื้อเชิญให้เราเกิดจินตนาการ และเข้าไปสัมผัสกับแรงบันดาลใจที่ทำให้เรนทาโร เป็นคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ของชาวญี่ปุ่น

นอกจากงานออกแบบเสียงให้กับพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว คุณเคอิโกะ ยังทำงานชิ้นสำคัญคือ การรวบรวมเสียงที่ลืมเลือนไปจากสังคมญี่ปุ่น โดยคัดเลือกเสียงที่มีความหมายเชื่อมโยงชีวิตกับสังคม สิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ เป็นเสียงที่ผู้คนในสังคมลืมที่จะใส่ใจฟังและอาจไม่มีโอกาสได้ยินอีก

เช่นเสียงการฟื้นคืนของชีวิตและธรรมชาติหลังระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ บนเนินเขาในบริเวณวัดเล็ก ๆ มีต้นการบูรอายุหลายร้อยปีที่เคยให้ร่มเงากับชีวิตและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็ก ๆ เช่น กระรอก และนก ระเบิดปรมาณูที่สหรัฐทิ้งลงที่เมืองนางาซากิได้เผาทำลายชีวิตผู้คนและเมืองจนพินาศย่อยยับ ต้นการบูรอายุหลายร้อยปีถูกรังสีมรณะแผดเผาไหม้เกรียม กิ่งใบหลุดร่วงหมด ลำต้นด้านที่หันรับรังสีปรมาณูนั้นไหม้ดำเป็นตอตะโก

สามสิบปีต่อมา การบูรต้นนี้แตกยอดอ่อนสีเขียว ตอบสนองต่อการภาวนาของพระและความพยายามของชาวบ้านที่ดูแลประคับประคองต้นไม้นี้ให้งอกงามขึ้นใหม่ ปัจจุบันต้นการบูรแผ่กิ่งก้านงอกงามให้ร่มเงาและเป็นที่พักอาศัยของสรรพสัตว์ แม้จะคงร่องรอยการถูกเผาไหม้เป็นแถบดำไว้ที่ลำต้นด้านหนึ่ง แต่เสียงของใบการบูรที่ลู่ลม เสียงนกร้องในยามเช้าและยามเย็น และเสียงของเด็ก ๆ ที่มาวิ่งเล่นหยอกล้อกันที่ใต้ต้นการบูรใหญ่ กลายเป็นเสียงแห่งการฟื้นคืนของชีวิตชุมชน เป็นเสียงของการเยียวยาและเสียงแห่งสันติภาพที่บรรเลงเตือนความทรงจำของชุมชนมิให้สิ้นหวัง

เตือนว่าแม้ชีวิตจะเผชิญกับความทุกข์ยากที่สุดแสนจะทนทานได้ แต่วันหนึ่งความหวังที่ยังไม่ดับหายไปจะงอกงามแผ่กิ่งก้านเป็นร่มเงาหล่อเลี้ยงชีวิตได้ใหม่

คุณเคอิโกะ เดินทางเก็บบันทึกเสียงแห่งนี้ ไม่ใช่เพื่ออนุรักษ์ไว้ในห้องสมุด แต่บันทึกให้เป็นสมบัติของชุมชนที่จะได้หันกลับมาเรียนรู้ความหมาย คุณค่าและสุนทรียภาพจากเสียงเล็กๆ ในชีวิตที่เรียบง่าย

เป็นเสียงอันละเมียดละไมที่ความอึกทึกของโลกสมัยใหม่ดังกลบจนเราเกือบจะลืมไปว่าเสียงนั้นมีความละเอียดประณีต มีความหมาย และมีคุณค่าทางจิตวิญญาณอยู่ด้วย



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน