รถเข็น (0 ชิ้น)
 
อารมณ์ สังคมและสมอง

เขียนโดย admin
อังคาร 05 กุมภาพันธ์ 2551 @ 17:00


คอลัมน์จิตวิวัฒน์ โดย โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ 

ราว 160 ปีก่อน ใน ค.ศ. 1848 คนงานก่อสร้างทางรถไฟในนิวอิงค์แลนด์ กำลังขยายทางรถไฟในรัฐเวอร์มอนต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ฟีนี่ส์ เกจ เป็นคนงานที่รับผิดชอบด้านการระเบิดหินที่ขวางทางตามแนวที่จะวางรางรถไฟ 
 

ในการระเบิดหินโดยเฉพาะภูเขาหินขนาดใหญ่ ฟีนี่ส์ เกจจะต้องขุดหินเป็นโพรงลึกเพื่อนำดินระเบิดเข้าไปใส่ไว้ในโพรงแล้วอัดทับด้วยทรายให้แน่น เมื่อทุกคนหลบอยู่ในระยะที่ปลอดภัยจึงใช้สายชนวนจุดระเบิด ฟีนี่ส์ เกจเป็นคนงานที่ทำงานนี้ได้ดีที่สุดและไว้วางใจได้มากที่สุดคนหนึ่งของบริษัท 

บ่ายสี่โมงครึ่งของวันหนึ่งในฤดูร้อน ฟีนี่ส์ เกจขุดโพรงหินด้วยชะแลงเหล็กของเขาที่เขาสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ หลังจากเอาดินระเบิดใส่ใว้จนเต็ม เขาบอกให้ลูกน้องที่ช่วยงานอยู่ให้เอาดินทรายมาใส่ทับปิดปากหลุม หลังจากหันไปคุยกับเพื่อนร่วมงานเพียงไม่กี่นาที ฟีนี่ส์ เกจก็ใช้เหล็กชะแลงอัดลงในหลุมเพื่อกระแทกทรายให้แน่น
เขาคิดว่าลูกน้องได้เอาทรายใส่ทับปิดปากหลุมแล้ว

แต่ในหลุมไม่มีทรายสักเม็ดเดียว เหล็กชะแลงของฟีนี่ส์ กระแทกผ่านดินระเบิดไปปะทะกับหินในหลุมเกิดเป็นประกายไฟจุดดินระเบิดที่อัดแน่นอยู่ในหลุมระเบิดสนั่นหวั่นไหวใส่ที่ใบหน้าของฟีนี่ส์ เกจเต็มแรง

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าแรงระเบิดก็คือ เหล็กชะแลงที่เขาถืออยู่

มันโดนแรงระเบิดและพุ่งออกจากหลุมดินระเบิด กระแทกเข้าที่โหนกแก้มด้านซ้าย พุ่งทะลุผ่านกะโหลกศีรษะของฟีนี่ส์ เกจไปออกที่ตรงกลางศีรษะเหนือหน้าผาก

ท่อนชะแลงเหล็กที่เป็นเหมือนกระสุนขนาดใหญ่ ทะลวงทะลุศีรษะของฟีนี่ส์ เกจ ลอยไปตกบนพื้นห่างออกไปเกือบสามสิบเมตร

ร่างของฟีนี่ส์ เกจ กระเด็นลอยไปตกลงพื้น ไม่ตาย ไม่สลบ และรู้สึกตัวดี

ฟีนี่ส์ เกจยังตะลึงงันกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด

แต่ที่ตะลึงยิ่งไปกว่าตัวฟีนี่ส์ เกจเองก็คือ คนงานในเหตุการณ์ที่คิดว่าฟีนี่ส์ เกจน่าจะเสียชีวิตทันที แต่เขากลับมีเพียงอาการกระตุกที่แขนขาเล็กน้อยและรู้สึกตัวดี แถมพูดคุยได้เหมือนคนปกติ ฟีนี่ส์ เกจถูกหามใส่รถม้าส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงแรมที่ห่างออกไปไม่กี่สิบเมตร

แม้จะมีรูเปิดที่ศีรษะและบาดแผลเหวอะหวะของสมอง ฟีนี่ส์ เกจเดินลงจากรถม้าด้วยตัวเอง

แพทย์ที่มาให้การรักษาถึงกับอึ้งกับบาดแผลและทึ่งกับการรู้สึกตัวเป็นปกติของฟีนี่ส์ เกจ เขาเขียนไว้ในบันทึกการแพทย์ว่า ฟีนี่ส์ เกจมีบาดแผลจากวัตถุที่พุ่งทะลุโหนกแก้มไปออกที่เหนือหน้าผากกลางศีรษะ เป็นบาดแผลขนาดใหญ่ที่เห็นเนื้อสมองเต้นตุ๊บๆ อยู่ข้างใน แต่ฟีนี่ส์ เกจก็รู้สึกตัวดี ตอบคำถาม และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

ฟีนี่ส์ เกจพักรักษาตัวอยู่เพียงสองเดือนก็หายอย่างอัศจรรย์ โดยไม่มีการติดเชื้อรุนแรง

แต่ที่ประหลาดและน่าฉงนสนเท่ห์มากกว่าอุบัติเหตุ อาการและการหายป่วยของฟีนี่ส์ เกจก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับฟีนี่ส์ เกจหลังอุบัติเหตุครั้งนั้น

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหันมาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผล สมองกับอารมณ์กันใหม่

เพราะหลังฟื้นตัวจากอุบัติเหตุ แม้ฟีนี่ส์ เกจจะไม่ปรากฏมีอาการผิดปกติของร่างกาย ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ไม่มีอาการลิ้นแข็ง ไม่มีอาการเดินผิดปกติหรือมือไม้สั่น ไม่มีความผิดปกติของการพูดหรือการใช้ภาษา ซึ่งเป็นอาการที่รู้กันว่ามักพบในผู้ที่มีความผิดปกติของสมอง

แต่ ฟีนี่ส์ เกจกลับไม่ใช่ฟีนี่ส์ เกจคนเดิม

สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือของเขา คืออารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรง มุทะลุดุดัน และหยาบคาย จากฟีนี่ส์ เกจที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการงาน ตัดสินใจในการทำงานด้วยเหตุผล และมีความยับยั้งชั่งใจ กลายมาเป็นฟีนี่ส์ เกจที่มีแต่ความหุนหันพลันแล่นและอารมณ์ที่รุนแรง

เหมือนถูกกำกับไว้เพียงสัญชาตญาณของสัตว์ป่า

ฟีนี่ส์ เกจต้องออกจากงานไปรับจ้างเป็นคนเลี้ยงม้า จากนั้นไปร่วมแสดงในคณะละครสัตว์ที่โชว์ของแปลก ซึ่งเขาจะถือท่อนเหล็กที่มันเคยเสียบทะลุหัวของเขาไปเดินโชว์ให้คนเห็นตัวจริงเป็นๆ ของคนที่ผู้ชมเคยอ่านจากข่าวอุบัติเหตุ แต่เขาทำงานนี้อยู่ได้ไม่นานก็ออกเดินทางไปเผชิญโชคในอเมริกาใต้ และกลับมาอยู่กับแม่และน้องสาวที่ซาน ฟรานซิสโก และเสียชีวิตเงียบๆ ที่นั่น

เรื่องราวของฟีนี่ส์ เกจเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กรณีศึกษาที่นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาใช้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิตใจ อารมณ์ และชีวิตทางสังคมของมนุษย์

จะว่าไปแล้ว วิทยาศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ

ในช่วงทศวรรษหลังนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องของจิต วิญญาณ และอารมณ์ พร้อมๆ กับความสนใจเรื่องจิต นักวิทยาศาสตร์ก็ได้หันมาเรียนรู้จากปรัชญาและศาสนาของตะวันออกโดยเฉพาะพุทธศาสนา ในปี ค.ศ. 1995 นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำกับนักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้จัดเวทีเสวนากับองค์ทะไลลามะขึ้น เป็นการพูดคุยในเรื่องอารมณ์ ความเมตตากรุณาและจริยธรรมจากมุมมองของวิทยาศาสตร์

มีการตั้งข้อสังเกตว่า วิทยาศาสตร์ไม่ค่อยสนใจเรื่องของอารมณ์

และเมื่อวิทยาศาสตร์มาศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก วิทยาศาสตร์ก็จะให้ความสำคัญกับอารมณ์รุนแรงและเป็นอารมณ์ร้ายเช่น ความก้าวร้าว มากกว่าเรื่องอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่องของความเมตตากรุณาหรือความเอื้ออาทร

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์มักมองแบบแยกส่วน คือให้ความสำคัญกับการหาสารเคมีในสมองหรือแยกสมองออกเป็นส่วนๆ และหาดูว่าส่วนของสมองส่วนไหนทำหน้าที่อะไรเป็นสำคัญ

ซึ่งก็ทำให้เราได้ความรู้ใหม่มากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างกรณีของฟีนี่ส์ เกจ ปัจจุบันเราก็เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า สมองส่วนหน้าด้านซ้ายของฟีนี่ส์ เกจซึ่งถูกชะแลงเหล็กทะลวงผ่านนั้น เป็นส่วนของสมองที่มีความสำคัญด้านอารมณ์ ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหรือประสบอุบัติเหตุทำลายสมองส่วนนี้จึงมักมีอารมณ์แปรปรวนหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งมีผลอย่างใหญ่หลวงต่อการมีชีวิตในสังคม

แต่ถ้าเราคิดอย่างนี้ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนอารมณ์และชีวิตทางสังคมให้เหลือแค่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีและโครงสร้างของระบบประสาทในสมองเท่านั้น

ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด

เพราะมีการค้นพบที่น่าสนใจมากอีกหลายประการที่แสดงให้เห็นกลับกันว่า โครงสร้างระบบประสาทในสมองของเราเป็นผลจากการใช้ความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ ด้วย

มีงานวิจัยพบว่าในหมู่คนขับรถแท็กซี่ที่ต้องใช้จินตนาการเรื่องทิศทางและวาดภาพแผนที่การเดินทางบ่อย สมองส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างจินตภาพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพื้นที่ จะมีขนาดใหญ่กว่ามากกว่าคนในอาชีพอื่น ๆ

จะเรียกว่า การปฏิบัติภาวนา หรือการหมั่นฝึกฝนหมั่นใชังานจะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็ได้
นอกจากนั้น สมองที่ผิดปกติยังสามารถเยียวยาได้จากสังคมและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมอีกด้วย

ในผู้ป่วยที่สมองสองซีกถูกตัดแยกออกจากกัน ซึ่งทำให้กลายเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเป็นสองคน สองความรับรู้และสองความคิด มีชีวิตและการแสดงออกเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่กับว่าสมองซีกไหนมีอำนาจมากกว่า
เมื่อมีชีวิตอยู่ต่อไประยะหนึ่ง ความแปลกแยกของการมีสองความรู้สึกนึกคิดก็จะถูกสังคมและวัฒนธรรมหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นใหม่ได้

ทั้งที่เนื้อสมองทั้งสองซีกยังถูกตัดแยกขาดจากกันอยู่

จิต อารมณ์ เหตุผล สมอง และสังคม จึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างน่าอัศจรรย์



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน