รถเข็น (0 ชิ้น)
 
สังคมปรนัยกับการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่

เขียนโดย admin
เสาร์ 02 สิงหาคม 2551 @ 17:00


โดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2551

การศึกษาในระบบโรงเรียนกำเนิดขึ้นควบคู่กันกับระบบอุตสาหกรรมในสังคม ตะวันตก
เพราะเมื่อแรกเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมก็มีคนงานจำนวนมากที่ต้องมาทำงานในโรงงาน 

การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแตกต่างจากงานในภาคเกษตรกรรม เพราะคนงานต้องทำงาน เต็มเวลา
และไม่สามารถเลี้ยงดูลูกหลานได้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการเลี้ยงดูและให้การศึกษาสำหรับบุตรหลานของคนงานเหล่านั้น

การศึกษาในระบบโรงเรียนที่ว่า จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการเตรียมลูกหลานคนงานเหล่านี้
ให้พร้อมที่จะไปทำงานเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตเท่านั้น
ระบบการจัดการโรงเรียนจึงไม่ต่างไปจากระบบการจัดการอุตสาหกรรม

เด็กนักเรียน เป็นเสมือนวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรม ถูกคัดเลือกด้วยเกณฑ์มาตรฐานที่เหมือนๆ กัน
แบ่งการเรียนเป็นชั้นๆ ตามอายุที่เท่าๆ กัน ผ่านการเรียนการสอนที่เหมือนๆ กัน เพื่อจบออกมามีคุณภาพมาตรฐานเหมือนๆ กัน
การวัดผลเน้นไปที่ความแตกต่างในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ เช่น ทำข้อสอบได้คะแนนดีกว่าคนอื่น

แต่ข้อสอบที่ทุกคนทำก็เป็นข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตรวจวัดในสิ่งๆ เดียวกัน
มากกว่าที่จะตรวจหาศักยภาพหรือความสามารถเฉพาะตัว

และเพื่อให้การประเมินผลเชิงปริมาณเป็นไปได้อย่างเที่ยงตรงและรัดกุมยิ่งขึ้น ข้อสอบก็ต้องเป็นข้อสอบแบบปรนัยด้วย

ฐานความคิดที่สำคัญของข้อสอบปรนัยก็คือ ความจริงและสิ่งที่ถูกต้องนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คำตอบสุดท้ายนั้นมีคนรู้อยู่แล้ว นักเรียนหรือผู้สอบไม่มีส่วนในการกำหนดว่าอะไรถูก อะไรผิด
และก็ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ด้วย และเพียงแค่จดจำให้ได้ว่าคำตอบที่ถูกต้องที่มีอยู่ในตัวเลือกนั้นคืออะไร

เลือกแล้วก็รอให้มีคนมาบอกว่า “ถูกต้องแล้วคร้าบ...”

ระบบการศึกษาจึงไม่ต่างจากระบบอุตสาหกรรม ที่เน้นการผลิตขนาดใหญ่ หรือ mass production โดยมีผู้สร้างความรู้จำนวนน้อย
แต่มีผู้เสพหรือบริโภคความรู้เป็นจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ถูกฝึกให้รอคอยที่จะบริโภคความรู้สำเร็จรูป
มากกว่าที่จะมีส่วนร่วมในการผลิตความรู้ และความรู้ที่เหมาะกับการบริโภคแบบ mass consumption
จึงเป็นความรู้ฉาบฉวยที่ถูกทำให้ง่ายและบริโภคได้โดยไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไร มากนัก

ซึ่งก็คือความรู้แบบ how to สำเร็จรูปที่เราเห็นแพร่หลายอยู่กลาดเกลื่อนบนแผงหนังสือทั่วไปนั่นเอง

วิธีคิดในระบบอุตสาหกรรมความรู้นี้จึงสร้างวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก

เราอาจเรียกสังคมลักษณะนี้ว่าสังคมปรนัย คือ เป็นสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตเหมือนทำข้อสอบปรนัย ตัดสินใจผ่านตัวเลือกสำเร็จรูป
ที่ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บัตรเครดิต รวมไปถึงการงานและการใช้เวลาว่าง
อย่างเช่น การใช้เวลาว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ก็เป็นแบบปรนัย ไม่ต้องใช้จินตนาการหรือความคิดอะไรมาก
แค่เลือกระหว่างนอนอยู่บ้านดูทีวี หรือจะออกไปเดินห้าง

การเรียนการสอนแบบปรนัยจึงเป็นรากฐานสำคัญของการผลิตซ้ำอุดมการณ์บริโภคนิยมในสังคมอุตสาหกรรม
เพราะการเรียนแบบปรนัยสอนให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกโดยไม่ต้องมีส่วนร่วม กำหนด
คำตอบที่ถูกหรือผิดนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมใน การคิด ตีความ หรือตัดสินอะไร
เราเป็นเพียงคนเกาะรั้วดูอยู่นอกสนามแบบปรนัย (Objective) โดยไม่ได้ร่วมเล่นด้วย

ในสังคมปรนัย คนส่วนใหญ่จึงทำหน้าที่เป็นเพียงคนดู ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือการละเล่น งานต่างๆ
มีผู้บริหารจำนวนน้อย คิดงานให้คนจำนวนมากทำไปวันๆ โดยคนส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก

แม้แต่ในการละเล่นหรือสันทนาการ เราก็ไม่ต้องคิดและไม่ต้องลงมือทำ เราไม่ได้สนุกกับการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส หรือกอล์ฟ
เราแค่สนุกกับการดูการแข่งขันก็พอ ไม่ว่าจะดูที่สนามหรือในทีวีที่มีคนเล่นเพียงไม่กี่คน แต่มีคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน
กีฬามีไว้ดูมากกว่ามีไว้เล่น หรือเรื่องอาหาร เราก็ไม่ใช้เวลากับการปรุงอาหาร แต่เราจะมีความสุขกับการดูรายการอาหารในโทรทัศน์
เราไม่สนใจจัดบ้านของเรา (หรือเราอาจไม่มีบ้านอยู่) แต่เรามีความสุขกับการอ่านหนังสือบ้านและสวนมากกว่า เป็นต้น

สังคมปรนัยจึงเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในการเสพมากกว่าการสร้าง

ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราสังเกตได้โดยทั่วไป ถ้าเราเปรียบเทียบรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่น อย่างเช่น ทีวีแชมเปี้ยน
ซึ่งบ้านเราก็นำมาทำเป็นรายการแฟนพันธุ์แท้ เราจะเห็นว่ารายการทั้งสองแตกต่างกันอย่างสำคัญประการหนึ่งคือ
รายการทีวีแชมเปี้ยนนั้น การแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นการประชันฝีมือในการสร้างหรือการผลิต เช่น แข่งขันทำอาหาร ตกแต่งต่อเติมบ้าน
หรือประดิษย์ประดอยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ

ส่วนรายการแฟนพันธุ์แท้นั้น ส่วนมากเป็นการแข่งกันเพื่อดูว่าใครเสพหรือบริโภคเก่งกว่ากัน
เช่น รู้เรื่องดาราคนนี้ทุกอย่าง จำพระเครื่องหรือจตุคามได้ทุกรุ่น ร้องเพลง (ของคนอื่น) ได้ทุกเพลง
จำรถจักรยานยนต์ได้ทุกรุ่น ดูหนังทุกเรื่องของดาราบางคน เป็นต้น

รายการอย่างหลังนี้ ใครเสพมาก บริโภคมากเป็นผู้ชนะ
และการตอบถูกก็ไม่ใช่ผลผลิตหรือผลงานการสร้างอะไรของคุณ แค่จำมาเท่านั้น

เหมือนกับการสอบปรนัยที่เราไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเป็นของเรา ไม่ต้องตีความ และอาจารย์ก็ไม่สนใจว่าสิ่งที่เรียนที่สอนนั้นมีคุณค่า
หรือความหมายสำหรับนักเรียนแต่ละคนอย่างไร เพราะการสอบปรนัยไม่ได้ประเมินว่าคุณมีความคิดเห็นหรือสร้างคำอธิบายของคุณเอง
ได้หรือไม่ สนใจแต่เพียงว่าคุณรู้หรือไม่ว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร

ส่วนการสอบแบบอัตนัยนั้นก็ดูเหมือนใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากระบบการเรียนการสอนแล้ว ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นการสอบอัตนัย
แบบปรนัย คือ เพียงแค่จำเนื้อหามาบอกหรือเขียนซ้ำ โดยไม่ต้องสนใจว่าผู้ตอบมีความคิดเห็นเป็นของตนเองหรือไม่

เรียกว่า จำให้ได้แล้วเอามาเขียนซ้ำใหม่ (re-description) โดยไม่มีการครุ่นคิดตรึกตรองหรือกลั่นกรอง
เป็นความคิดอ่านหรือความเห็นของตน เอง

เหมือนกินอาหารแล้วสำรอกออกมาโดยไม่มีการย่อย

ข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ทำให้มีความพยายามที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ก้าวพ้นไปจากระบบอุตสาหกรรมความรู้
แนวคิดหนึ่งที่มีความสำคัญคือ แนวคิดเรื่องการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่หรือ Transformative Learning ที่ได้รับอิทธพลจากนักคิด
และนักปฏิบัติ อย่างเช่น เปาโล แฟร์ (Paulo Freire), แจ็ค เมอซิโรว์ (Jack Mezirow) และนักจิตวิทยาอย่าง คาร์ล จุง (C. G. Jung)

การเรียนรู้แบบปรนัยนั้น มีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ล่วงหน้าแล้ว จึงเน้นการจดจำสาระข้อมูล หรือ Information และสอนให้คิดตาม
ทำตามในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าถูกต้อง จึงเป็นการสร้างให้คนเชื่องเพื่อที่จะออกไปรับใช้ระบบมากกว่าที่จะไปเปลี่ยนแปลงระบบ
หรือเรียกว่าเน้นที่ Conformation

การเรียนเพียงเพื่อให้จดจำหรือมีข้อมูล (Information) จำนวนมากและให้คิดตามๆ กัน ทำตามที่ถูกกำหนดให้ทำ (Conformation)
จะไม่สามารถนำไปสู่การค้นพบตนเองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง หรือ Transformation ได้

การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของวิธีคิดแล ะจิตสำนึก
ที่ทำให้การใช้ชีวิตและการจัดความสัมพันธ์กับสังคมและโลกแวดล้อมไม่เป็นไปอย ่างฉาบฉวย

การเกิดขึ้นของทัศนะต่อชีวิตและจิตสำนึกใหม่ที่เข้าใจความจริงของโลกภายนอกแ ละโลกแห่งชีวิตด้านในอย่างลุ่มลึกนี้
เป็นผลจากการมีประสบการณ์ตรงของผู้เรียนที่ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความจริงของชีวิต (ไม่ใช่ยืนเกาะรั้วมองดูชีวิตอยู่ห่างๆ)
ทั้งยังต้องมีการใคร่ครวญตรึกตรองอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิต จนเกิดการประจักษ์แจ้งในใจตนเอง
ถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต (ไม่ใช่จำมาจากสิ่งที่คนอื่นคิดไว้)

นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมกระบวนการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่จึงไม่สามารถทำให้เป็นแบบปรนัยได้



รวมบทความประกอบการประชุมวิชาการออนไลน์ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ: มิติทางสังคมของการใช้ยา”
หนังสือจดหมายเหตุ COVID-19 รวมพลัง ร่วมใจ ฝ่าภัยวิกฤต (ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2563)
สไลด์ประกอบการอบรม "โครงการวิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้น"
ดูทั้งหมด »
E-Mail

รหัสผ่าน

จดจำการล๊อคอิน

สมัครสมาชิก ลืมรหัสผ่าน